อร่อยถูกใจ อนามัยถูกลืม ลูกชิ้นตลาดนัด ซื้ออย่างไร ไม่ให้เจอของเถื่อน

อร่อยถูกใจ อนามัยถูกลืม ลูกชิ้นตลาดนัด ซื้ออย่างไร ไม่ให้เจอของเถื่อน

พักหลังมานี้ข่าวลูกชิ้นยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดกับการทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนย่านปทุมธานี 2 แห่ง ผลิต 9 ยี่ห้อ ส่งขายปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ยึดของกลางกว่า 31 รายการ มูลค่ากว่า 210,000 บาท

ทำเอาหลายคนผวาว่าลูกชิ้นที่ถูกจับนั้นอาจเป็นยี่ห้อที่ตัวเองเคยบริโภค วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาเผยเทคนิค และวิธีการตรวจสอบ แยกลูกชิ้นปลอม ลูกชิ้นเถื่อน เพื่อป้องกันสุขภาพ และการบริโภคที่ถูกสุขอนามัย

วิธีการตรวจสอบ

วิธีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างดีที่สุด คือการเช็ก เลข อย. โดยสังเกตฉลาก และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ เพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย หรือตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” 

สอบถามหรือแจ้งร้องเรียนเพิ่มเติมได้ที่ 

สายด่วน อย. 1556 

Line : @FDAThai

Facebook : FDAThai

E-mail : [email protected] 

ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ลักษณะลูกชิ้นผิดหลักอนามัย

สำหรับลักษณะลูกชิ้นผิดหลักอนามัยจะมีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ เพื่อให้ความเด้ง กรอบ และไม่เสียง่าย โดยผลที่ตามมาต่อร่างกายมหาศาล เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในการประกอบอาหาร แต่มักถูกนำมาผสมในอาหารประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก เพื่อถนอมอาหาร

หากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณเล็กน้อย อาจทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่หากได้รับสารปริมาณสูงมาก อาจทำให้ไตวาย ตับวาย หรือเสียชีวิตได้ และหากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณน้อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ และไตอักเสบ

ผลต่อร่างกาย

อ่อนเพลีย

เบื่ออาหาร

ตับและไตอักเสบ

น้ำหนักลด

ผลพิษเฉียบพลัน

คลื่นไส้ อาเจียน

อุจจาระร่วง

อุจจาระเป็นเลือด

ชัก หมดสติ

เลือกซื้อลูกชิ้นอย่างไรให้ปลอดภัย

  • เลือกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่มีเครื่องหมายรับรองของ อย.
  • ผลิตภัณฑ์ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่ใส่สีสังเคราะห์
  • ก่อนซื้อควรสังเกตร้านค้ามีการควบคุมความเย็นหรือไม่

เราจะหลีกเลี่ยงสารบอแรกซ์ได้อย่างไร

ผู้บริโภคอาจหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนบอแรกซ์โดยการเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปที่มีสีสดมาก กรอบเด้งเกินไป หรืออยู่ได้นานเกินผิดปกติ

ทั้งนี้ การเลือกบริโภคควรตรวจสอบให้ละเอียดและมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบ ทางด้านผู้ประกอบการควรเลือกปฏิบัติอย่างถูกต้อง ถูกหลักอนามัย ตรวจสอบได้ เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย

มหาวิทยาลัยมหิดล

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา