ถอดบทเรียน อุบัติเหตุเผายาหน้าท้อง เรียกร้อง เร่งหาทางออกเป็นรูปธรรม

ถอดบทเรียน อุบัติเหตุเผายาหน้าท้อง เรียกร้อง เร่งหาทางออกเป็นรูปธรรม

จากกรณีเมื่อไม่นานมานี้ สถานพยาบาลที่เป็นสหคลินิกแห่งหนึ่ง ได้กระทำการที่ไม่ถูกต้องตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย โดยมีการเผายาหน้าท้องให้ผู้ป่วยรายหนึ่ง กระทั่งเกิดความเสียหายเกิดเพลิงไหม้ตามร่างกาย สร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งต่อผู้ป่วยและภาพรวมวงการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันออก

เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดงานแถลงข่าว ถอดบทเรียนกรณีอุบัติเหตุการเผายา กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออก พร้อมเปิดแถลงการณ์จุดยืน โดย อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดี และคณาจารย์ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นการแพทย์แผนตะวันออก และให้ความรู้การใช้การรักษาโดยใช้ไฟ ในการรักษา

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จุดยืนดังกล่าว ระบุว่า แพทย์แผนไทยคนดังกล่าว สถานพยาบาลแห่งนั้น ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน สภาการแพทย์แผนไทย และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง และหาทางออกในกรณีนี้อย่างเป็นรูปธรรม

แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า การเผายา เป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่มีการใช้กันทางภาคเหนือที่ได้รับการรับรองโดยสภาการแพทย์แผนไทย โดยมีกรรมวิธีหัตถการที่ใช้การจุดไฟให้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพรรสร้อนที่วางลงผิวหนังเฉพาะจุดของผู้ป่วย

หากแพทย์แผนไทยคนใดไม่เคยเรียนรู้การเผายาภาคปฏิบัติจากครูบาอาจารย์โดยตรงอย่างถูกต้อง ไม่ควรใช้กรรมวิธีเผายากับผู้ป่วยโดยเด็ดขาด และผู้ที่จะทำหัตถการเผายากับผู้ป่วยต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น

สาธิต

“โรคหรืออาการที่สามารถใช้การเผายา ได้แก่ ท้องอืดท้องเฟ้ออาหารไม่ย่อย ภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต อาการหนาวใน และอ่อนเพลีย ใช้เพื่อไล่ลมจากท้อง ไล่ลมในเส้นลมที่ติด คลายเส้นที่ตึง ลดการปวดกล้ามเนื้อ โรคลมผิดเดือน กรรมวิธีการเผายาจึงไม่ได้เหมาะกับคนปกติทั่วไป แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคธาตุไฟหย่อนเฉพาะจุดเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างภาวะร้อนเกิน เช่น มีไข้ เพลียจากแดด ร้อนใน มีภาวะการอักเสบ” อาจารย์ปานเทพ ระบุ

และว่า แม้การเผายาเป็นการใช้ไฟในบริเวณใกล้ผิวหนังของผู้ป่วย แต่เป็นหัตถการที่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นบนผ้าเปียกอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้น การเผายายังสามารถดำเนินกรรมวิธีด้วยการไม่ใช้แอลกอฮอล์เลยด้วย เช่น การใช้การบูรแบบดั้งเดิม เป็นเชื้อเพลิงในการเผาเครื่องยาซึ่งเป็นการเผาไหม้เครื่องยาทีละน้อย

อธิบาย

“ผู้ให้บริการที่ใช้ไฟและความร้อนของแต่ละภูมิปัญญา ควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ และมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยตรง และดำเนินกรรมวิธีการรักษาด้วยความรู้ สติ และความรอบคอบ ย่อมจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน” อาจารย์ปานเทพ ย้ำส่งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีการสาธิตการใช้ไฟและความร้อนในหัตถการภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออกอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น การเผายาแบบมังกรไฟในการแพทย์แผนจีน, การกักน้ำมันในอุณหภูมิอุ่น ในการแพทย์อายุรเวทอินเดีย, การเผายาและทางเลือกกรรมวิธีภูมิปัญญาอื่นๆ ในการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องและปลอดภัย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยรังสิต