ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โรคระบาดหรือโรคลำบาก อาชีพใด เดือดร้อนหนัก จากการเว้นระยะห่าง
คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน เขียนบทความ ในหัวข้อ โรคระบาดหรือโรคลำบาก มีข้อมูลน่าสนใจ ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดที่แพร่เชื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลก แต่ยังเป็นโรคที่สร้างความลำบาก หรือ “โรคลำบาก” ของใครหลายๆ คน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เรียกกันว่า “social distancing” หรือ “การเว้นระยะห่างทางสังคม”
ซึ่งความลำบากนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของโลก และของประเทศไทยจากการที่ธุรกิจและอาชีพบางประเภทต้องประสบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัสในการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งในปัจจุบัน การเข้าถึงวัคซีนของคนทั่วโลกยังมีความยากลำบาก ทำให้มีโอกาสที่จะต้องอยู่กับวิกฤตโควิด-19 ไปอีกนาน
สำหรับอาชีพใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เจ้าของบทความครั้งนี้ ระบุว่า สำหรับหลายอาชีพ การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากอ้างอิงงานวิจัยของ Koren และ Peto (2020) ซึ่งใช้ข้อมูลจาก O*NET ของกระทรวงแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่า หากอาชีพใดมีลักษณะของการทำงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม การทำงานที่ต้องพบปะลูกค้า และการทำงานที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่ อาชีพเหล่านี้ จะมีปัญหาและอุปสรรคจากการเว้นระยะห่างทางสังคม
ส่วนอาชีพแบบไหน ที่เทคโนโลยีน่าจะเป็น “ทางออก” คณะผู้เขียน ระบุ ไม่ใช่ทุกอาชีพ ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมหรือทดแทนการทำงานของคนได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการพัฒนาไปอย่างมากแล้ว แต่ยังมีงานหลายประเภท ที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของคนได้ เช่น บางลักษณะงานของทันตแพทย์ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะที่มีความละเอียดอ่อน หรือ งานที่ต้องอาศัยการตัดสินของคน เช่น งานผู้พิพากษา เป็นต้น
และเพื่อให้เข้าใจประเด็นที่สำคัญนี้ คณะผู้เขียน จึงทำการศึกษา หาคำตอบว่าอาชีพไหนบ้างที่เทคโนโลยีที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้ามาส่งเสริมหรือทดแทนได้ โดยอาศัยข้อมูลความน่าจะเป็นที่ระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้ามาส่งเสริมหรือทดแทนอาชีพ (probability of computerization) กว่า 700 อาชีพจาก Frey และ Osborne (2017) ซึ่งพบว่า มี 3 กลุ่มอาชีพที่มีอุปสรรคจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในระดับสูง แต่มีเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและช่วยลดปัญหาจากการเว้นระยะห่างทางสังคมไปพร้อมกันได้
ดังนั้นการปรับตัวอย่างเหมาะสม อย่างเช่น การเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่พร้อมอยู่แล้วในการทำงาน จึงเป็นทางออกและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพของตนเองและองค์กรอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้โดรนการเกษตรในการพ่นยา สามารถช่วยลดต้นทุนและสามารถครอบคลุมการพ่นยาได้มากกว่า 100 ไร่ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้เวลาหลายวัน แต่โดรน 1 เครื่องสามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 1 วันเท่านั้น
หรือ การ “ดำนา” ที่เป็นกิจกรรมที่จะต้องใช้คนจำนวนมากซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อไวรัสอย่างทวีคูณ หรือแม้แต่การใช้ระบบการจ่ายเงินแบบอีเพย์เมนต์ให้แพร่หลาย ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่สามารถทำให้มีการใช้ระบบอีเพย์เมนต์สูงถึง ร้อยละ 80 ถึง 90 นอกจากจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายแล้ว ยังลดโอกาสที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องใกล้ชิดกัน หรือ แพร่เชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสธนบัตรหรือเหรียญอีกด้วย