ลาออกจากงานประจำ เปิดร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ราคาย่อมเยาเพียง 19 บาท ขยายสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และต่อยอดไปถึง สปป.ลาว!

ลาออกจากงานประจำ เปิดร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ราคาย่อมเยาเพียง 19 บาท ขยายสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และต่อยอดไปถึง สปป.ลาว!

“มีทุนแค่ไหนเริ่มต้นแค่นั้นไปก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไรที่ลงทุนเยอะ เรายังไม่รู้เลยว่าเปิดแล้วมันจะขายดีเหมือนที่เราคาดหวังรึเปล่า ถ้าขายไม่ดีแล้วต้องย้ายที่ มันจะได้ไม่ต้องจมทุนเยอะ ถ้าเจ็บก็เจ็บไม่หนักมาก แต่ถ้าไปทำสวยหรู เวอร์วังอลังการ ลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน เกิดขายไม่ดีจะทำยังไง มันก็จะเจ็บหนักนะ”

เคยไหม? รู้สึกเบื่อหน่ายกับงานประจำ วนเวียนอยู่กับตารางชีวิตเดิมๆ ใฝ่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง อีกทั้งในปัจจุบันการทำอาชีพเดียวมักจะไม่เพียงพอแล้ว หลายๆ คนเริ่มมองหาอาชีพเสริมสร้างรายได้

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีแรงบันดาลใจดีๆ มาแบ่งปัน ผ่านเรื่องราวของ คุณมล-ศิริวิมล พุทธเบญจพจน์ และ คุณพงศ์ธร สุขุมาลพันธ์ เจ้าของธุรกิจ Soft & Sweet อดีตพนักงานออฟฟิศ ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาสู่เส้นทางสายหวาน เปิดร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ไอศกรีมไขมันต่ำ หวานน้อย เนื้อไอศกรีมเนียน ไม่เป็นเกล็ดน้ำแข็ง และประสบความสำเร็จจนสามารถขยายสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และอีก 1 สาขาใน สปป.ลาว!

Soft & Sweet
Soft & Sweet

จุดเปลี่ยนสู่เส้นทางใหม่

ก่อนหน้านี้ คุณมล เล่าว่า แฟนของตนนั้นได้ลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ เพื่อมาดูแลพ่อแม่ที่ป่วย ทำให้ต้องหากิจการส่วนตัวทำ เริ่มแรกนั้นเปิดเป็นร้านขายขนมกล่องไม้ขีด 

แต่แล้วก็ประสบปัญหากับช่วงโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลง อีกทั้งราคาวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเปิดร้านเพิ่มอีก 1 ร้าน และเห็นโอกาสว่ามีพื้นที่ว่างด้านข้าง บวกกับเธอนั้นเคยไปดูดวง แล้วหมอดูบอกว่า

“แฟนถูกโฉลกกับธาตุน้ำ ควรหาอาชีพค้าขายที่เกี่ยวกับธาตุน้ำ และเสริมความปังด้วยธาตุทอง”

จึงเกิดเป็นร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟขึ้น เธอบอกว่า ธุรกิจนี้ยังไม่ค่อยมีใครทำขายตามตลาดนัดมากนัก ส่วนใหญ่จะเจอแต่ในห้างสรรพสินค้า หรือเป็นนายทุนใหญ่ ทำให้เธอนั้นสนใจและอยากเปิดร้านไอศกรีมที่ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย

แต่แล้วพอเปิดทั้งร้านขนมกล่องไม้ขีดกับร้านไอศกรีมด้วย ทำให้เธอนั้นรู้สึกเหนื่อยมากเกินไป จึงได้ปิดร้านขนม และตั้งใจทำร้านไอศกรีมอย่างเดียว

โดยคอนเซ็ปต์ที่เปิดร้านขึ้นมา คือเธออยากนำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่เมื่อก่อนขายเฉพาะในห้าง มาเปิดตามตลาดนัดข้างนอกทั่วไป ขายในราคาที่ย่อมเยา เริ่มต้นเพียง 19 บาท ตอนเปิดครั้งแรกผลตอบรับดีกว่าที่เธอคาดคิด ด้วยราคาที่จับต้องได้ ทานแล้วรสชาติอร่อย จนทำให้อยากกลับมาซื้อซ้ำ

ค้นพบโอกาสทอง

“ตอนนี้ร้านไอศกรีมของเราเปิดมาประมาณ 2 ปีครึ่งแล้ว ช่วงปีแรกที่ขายก็ค่อนข้างขายดี แต่การที่จะขายดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับทำเล และกลุ่มลูกค้าของแต่ละสาขาด้วย ซึ่งยอดขายช่วงแรกเคยขายได้สูงสุด 70,000 บาทต่อเดือน เลยทีเดียว” เธอกล่าว

ซึ่งสาเหตุที่ต่อยอดทำเป็นแฟรนไชส์ คือตอนแรกเธอนั้นอยากโปรโมตร้านให้คนรู้จัก จึงได้ทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการโพสต์คลิปลงเพจเฟซบุ๊ก และ TikTok จนกระทั่งเริ่มมีคนมาสอบถามว่า “ทางร้านได้เปิดขายเป็นแฟรนไชส์ไหม”

เธอจึงได้มองเห็นโอกาสในการทำแฟรนไชส์ เพื่อที่จะสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง จนกระทั่งตอนนี้เปิดมา 2 ปี ขยายสาขาไปมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และอีก 1 สาขาในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

คุณมล เล่าว่า “ย้อนกลับไปตอนที่ยังไม่ได้มีคนรู้จักร้านมากนัก ตอนนั้นมีคนติดต่อมาขอชิมไอศกรีม พอเขาชิมเสร็จ เขาก็ขอซื้อแฟรนไชส์ไปเปิด ซึ่งสถานที่ที่เขาไปเปิดนั้นเป็นตลาดไนท์มาร์เก็ตที่ค่อนข้างใหญ่ อยู่ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งแฟรนไชส์สาขานี้เป็นสาขาที่มียอดขายมากที่สุด ขายได้เกิน 200 โคนต่อวัน ผลตอบรับดีมาก จนสามารถคืนทุนได้ภายใน 2 เดือน”

Soft & Sweet
Soft & Sweet

ลงทุนน้อย คืนทุนไว

เธอเล่าว่า ตนนั้นเริ่มจากคนที่มีทุนน้อยมาก่อน เลยรู้สึกว่าไม่อยากบังคับใครในการลงทุน บางคนที่ไม่ได้มีงบเยอะ แต่มีร้านอยู่แล้ว สามารถซื้อแฟรนไชส์ไปทำได้ ขอแค่ใช้ชื่อแบรนด์ และใช้ป้ายของทางร้านเท่านั้น มีงบตกแต่งร้านแค่ไหนสามารถทำได้เลย เน้นแค่ว่าเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ไม่ต้องสวยงามเวอร์วังอลังการ

“มีทุนแค่ไหนเริ่มต้นแค่นั้นไปก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไรที่ลงทุนเยอะ เรายังไม่รู้เลยว่าเปิดแล้วมันจะขายดีเหมือนที่เราคาดหวังรึเปล่า ถ้าขายไม่ดีแล้วต้องย้ายที่ มันจะได้ไม่ต้องจมทุนเยอะ ถ้าเจ็บก็เจ็บไม่หนักมาก แต่ถ้าไปทำสวยหรู เวอร์วังอลังการ ลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน เกิดขายไม่ดีจะทำยังไง มันก็จะเจ็บหนักนะ”

“ลงทุนเท่าที่จำเป็นไปก่อน แล้วถ้าวันหนึ่งขายดี เงินเหลืออยากจะขยายร้านทำร้านอะไรแบบนี้ ไม่ว่าเลย”

คุณมล บอกว่า ธุรกิจนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมันเหนื่อยน้อยที่สุดในบรรดาการเปิดร้านหลายๆ อย่าง สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย วัยเกษียณก็สามารถทำได้ เพราะการเรียนรู้การใช้งานเครื่อง ไม่ได้ยาก และการเตรียมของนั้นไม่ได้เหนื่อยมากเหมือนการขายอย่างอื่น

ส่วนข้อเสียคือ ต้องหาทำเลที่ดี ถ้าทำเลดีถึงจะขายดี และอยู่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าร้านประเภทอื่น เนื่องจากเครื่องทำไอศกรีมมีราคาสูง แต่ถ้าทำแล้วเวิร์ก ไปได้ด้วย ก็จะสบายในระยะยาว

ความประทับใจ

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของแฟรนไชส์สาขาแรก เธอเล่าว่า เป็นคุณป้าวัยเกษียณ ที่ก่อนหน้านี้เคยซื้อแฟรนไชส์ขนมกล่องไม้ขีดของเธอไปขาย แต่แล้วคุณป้าก็ประสบปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ข้อมืออักเสบ จนทำขนมไม่ไหว

คุณมลจึงชวนคุณป้ามาขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟแทน โดยมองว่าถ้ามาขายไอศกรีม ไม่ต้องเหนื่อย หรือเสียสุขภาพขนาดนั้น จึงได้ทำการเซ้งร้านไอศกรีมสาขาแรกที่เธอเคยเปิด ให้กับคุณป้า เพราะสาขานั้นใกล้บ้านคุณป้า อีกทั้งเหมือนได้เซ้งร้าน พร้อมลูกค้าให้กับเขาด้วย

“มีหลายสาขา ที่เปิดร้านไอศกรีมควบคู่กับการทำงานประจำ เขาเห็นเราทำได้เขาเลยมีแรงบันดาลใจอยากจะทำบ้าง พอทำแล้วเขาก็มีความสุขที่ได้ขาย รู้สึกตื่นเต้น สนุก คลายเครียดจากงานประจำ มีรายได้เสริมไปช่วยผ่อนบ้าน ปัจจุบันก็ยังทำร้านไอศกรีมควบคู่งานประจำมาครบ 1 ปีแล้ว และสาขานี้คืนทุนไปตั้งแต่ 4-5 เดือนแรก” 

แบ่งปันข้อคิด

“เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน อยากให้เริ่มต้นเท่าที่ทุนเราไหว ถ้าใครที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ อยากให้ศึกษาข้อมูลให้มากๆ ว่าสิ่งที่สนใจอยากจะทำนั้น มีที่มาที่ไปเป็นยังไง แนวโน้ม แนวคุ้มค่า มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์”

โดยสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเปิดร้าน เธอแนะนำว่า 

“ถ้าจะเปิดร้าน อยากให้ตั้งใจ ใส่ใจ ทำให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะ ถ้าทำของกิน อยากให้ทำของดี ของอร่อยออกมาให้คนทาน ไม่ใช่ว่าอันนี้ดัง แล้วไปขายเลียนแบบเขา อร่อยไม่อร่อยไม่รู้ ขอขายไว้ก่อน” 

“เราเชื่อว่าของอร่อยถึงแม้ว่าแพง แต่ก็อยู่ได้นาน ดีกว่าของถูกแต่ไม่อร่อย คนกินไม่กี่ครั้งก็ไม่มากินซ้ำแล้ว ถึงราคาถูก แต่ถ้าไม่อร่อยก็อยู่ไม่ได้ อยากให้ตั้งใจทำของที่มีคุณภาพสู่ตลาด”

สำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ สามารถติดต่อได้ที่ 

เพจเฟซบุ๊ก : Soft&Sweet หรือ โทร. : 090-939-4956

Soft & Sweet
Soft & Sweet