มหาวิทยาลัยดัง อาสาช่วยทุกทาง ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ชาวบ้านรอรักษาจนตาย

มหาวิทยาลัยดัง อาสาช่วยทุกทาง ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ชาวบ้านรอรักษาจนตาย

จากข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน กรณีพบเหตุมีผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้จนกระทั่งเสียชีวิต ทาง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต จึงมีแนวคิดเรื่องการดูแลชุมชน ขออาสาเป็น เจ้าภาพ ช่วยดูแลชาวชุมชนเมืองเอกและหลักหก ซึ่งมีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ครอบครัว โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุน คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลตำบลหลักหก

‘ศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหก’ คือ ชื่อของเจ้าภาพในงานนี้ มี Call Center และ Line@ เพื่อให้ชาวหลักหก มีเพื่อนที่คอยช่วยเหลือ เช่น งานคัดกรอง ถ้าระแวงว่าอาการแบบนี้ติดโควิดหรือไม่ ถ้ามีอาการไข้ จะประสานงานติดต่อโรงพยาบาลให้  เป็นที่ปรึกษาถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะแยกตัวในบ้านอย่างไร ประสานรถฉุกเฉินนำส่งผู้ป่วย และ สนับสนุนอาหารระหว่างกักตัว

“นี่คือ มิติใหม่ที่สถาบันการศึกษากับชุมชนใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยชาวหลักหก สามารถไลน์เข้ามาคุยกับ ม.รังสิตได้ รวมถึงสามารถโทรไปยังคณะเทคนิคการแพทย์ มาที่เบอร์ Call Center 0-2791-6099 ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ซึ่งเบอร์กลางนี้ จะส่งต่อไปยังโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของอาจารย์ 15 คน

รวมถึงยังมี 2 คุณหมอ คือ ผศ.นพ.ชัยสิทธิ์ แสงทวีสิน และ ผศ.นพ.วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมให้ข้อมูลอีกด้วย” ข่าวจาก มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ

ช่วยชุมชน

และว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มหาวิทยาลัยรังสิต ทำเพื่อชุมชนหลักหก ที่กำลังขับเคลื่อน ได้แก่ ‘พลิกฟื้นหลักหก’ เรื่องการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยที่รุกล้ำคูคลองให้ถูกกฎหมาย โดยกำลังหลักของภาครัฐ คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ร่วมกับ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตเราอาสาช่วยชุมชนโดยนำองค์ความรู้จากคณะต่างๆ เข้าไปทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป้าหมายปลายทางคือ โครงการถนนคนเดิน ที่อยากจะสร้างให้บริเวณหลักหกเป็นแลนด์มาร์คที่ทำให้คนจากที่อื่นๆ อยากนั่งรถไฟฟ้ามาเที่ยวที่นี่

และ สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี 32 โครงการย่อย ที่นักศึกษา และอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต เข้าไปสอนอาชีพให้ชาวชุมชนหลักหกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้มีรายได้เสริม อาทิ การนำผักตบชวา มาทำเป็นพวงหรีดและดอกไม้จันทน์

โดยสถาบันส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเปิดคอร์สออนไลน์อาหารหมัก โดยคณะเทคโนโลยีอาหาร  โครงการสวนผักในเมืองเพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยคณะนวัตกรรมเกษตร  โครงการปลูกสมุนไพร การทำยาหม่อง โดยวิทยาลัยเภสัชศาสตร์  ถ่านดูดกลิ่นจากผักตบชวา โดยวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์  การพิมพ์ลวดลายผ้าจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น โดยวิทยาลัยการออกแบบ เป็นต้น