ส.อ.ท.เผย โควิด-19 ทำพิษ ครึ่งปีแรกทำคนตกงานแล้ว 3.3 ล้านคน 

ส.อ.ท.เผย โควิด-19 ทำพิษ ครึ่งปีแรกทำคนตกงานแล้ว 3.3 ล้านคน 

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 63 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราวจำนวน 4,458 แห่ง นับตั้งแต่ช่วงต.ค. 2562 ถึง ก.ค. 2563 ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้างจากการปิดกิจการ 332,060 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดจะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วง ส.ค.-ต.ค. 2563 หากมีการขยายมาตรการฯ กว่าอีก 800,000 คน รวมแล้วจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,397,979 คน

นายสุพันธ์ุ กล่าวว่า โดย 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ตามลำดับ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง

ด้าน นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน COVID-19 กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนขอเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ ดังนี้

  1. ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  2. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  3. เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน
  4. ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
  5. ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือร้อยละ 0.01
  6. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี
  7. จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000 ล้านบาท) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal