พี่ญาคนรุม จากชีวิตยิ่งกว่าจน สู่แม่พระสร้างอาชีพ มอบชีวิตใหม่ให้ผู้คน

พี่ญาคนรุม จากชีวิตยิ่งกว่าจน สู่แม่พระสร้างอาชีพ มอบชีวิตใหม่ให้ผู้คน

“พี่ญาไม่ใช่คนจนนะ” เธอยิ้ม

“ต้องบอกว่าโคตรจน โคตรจน บ้านเป็นพื้นดิน มีแม่ มีพี่น้อง 4 คน นอนด้วยกันที่พื้นดินในบ้านหลังนั้น เพราะพ่อกับแม่เลิกกันเลยไม่มีบ้านอยู่ ต้องอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เวลาจะกินข้าวก็ต้องไปยืมข้าวสารเขามากินก่อน”

เพราะเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตของแต่ละคนที่เดินผ่านหน้าเราไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสิน แต่กลับเป็นเราเองต่างหากที่ต้องเข้าใจหรือเรียนรู้เรื่องราวที่ผ่านมาให้เดินต่อไปข้างหน้าแบบไหน เพราะสุดท้ายทั้งหมดอยู่ที่เรา

เช่นเดียวกับ พี่ญา-อภิญญา ศรีสมบูรณ์ หรือที่หลายคนรู้จัก “พี่ญาคนรุม”

พี่ญา เล่าให้เราฟัง ถึงชีวิตการทำงานของเธอนั้นเริ่มต้นอาชีพเป็นพี่เลี้ยงเด็กตอนอายุ 12 ปี พออายุ 15 ปี ก็ผันตัวไปเป็นคนใช้ อายุ 16 ปี ก็ไปเป็นแม่ค้าช่วยน้าขายของ จวบจนอายุ 20 ปี ก็มาเป็นสาวโรงงาน

และปัจจุบันเธอมีโกดังราคา 30 ล้านบาท ไม่มีใครคิด แม้แต่ตัวของเธอเอง

พี่ญา : คน(จน)รุม คนธรรมดา

“ก่อนที่จะเป็นพี่ญาคนรุมก็คือพี่ญาธรรมดานี่แหละ เป็นพี่ญาขายไก่ทอด เป็นแม่ค้าตลาดนัดทั่วไปทำมาหมดแล้วทุกอาชีพ เป็นแม่ค้า เป็นสาวโรงงาน เป็นคนรับใช้ เป็นพี่เลี้ยงเด็ก งานอะไรที่ได้เงินเราทำหมด เก็บขยะขายก็เคยทำมาแล้ว”

เธอเล่าออกมาด้วยความภาคภูมิใจ กับไม่มีสักนิดเดียวที่จะกล้ำกลืนฝืนพูดเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตทั้งหมด เช่นเดียวกับการเติบโตจากความแร้นแค้นมันคือความเคยชินที่เธอเคยประสบตลอดมาทั้งชีวิต

“พี่ญาไม่ใช่คนจนนะ” เธอยิ้ม

“ต้องบอกว่าโคตรจน โคตรจน บ้านเป็นพื้นดิน มีแม่ มีพี่น้อง 4 คน นอนด้วยกันที่พื้นดินในบ้านหลังนั้น เพราะพ่อกับแม่เลิกกันเลยไม่มีบ้านอยู่ ต้องอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เวลาจะกินข้าวก็ต้องไปยืมข้าวสารเขามากินก่อน”

ไม่เพียงเท่านั้น วันหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน เธอเล่าว่า ชีวิตตอนนั้นมีเงินเพียง 7 บาท เกิดอยากกินส้มตำที่มีราคา 7 บาท ใน 1 วันนั้นเธอต้องแบ่งส้มตำครกนั้นออกเป็น 3 มื้อ เช้า เที่ยง เย็น

“ความลำบากทุกอย่างเราผ่านมาหมดแล้ว ตั้งแต่เด็กจนอายุ 20 มันลำบาก และตอนเด็กๆ เราก็จะมองชีวิตตัวเองว่าทำไมไม่เหมือนคนอื่น ทำไมคนอื่นเขาไปเที่ยวได้ไปเล่นได้ แต่ทำไมเราไม่มีเวลาแบบนั้น เพราะเราต้องทำงาน”

“แล้วการที่เราลำบากมาก่อน เราเลยรู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งเราสุขสบาย เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เราอยากส่งต่อให้คนที่เขาลำบาก ว่าอย่ามาเจอแบบฉันเลย เพราะฉันกว่าจะผ่านมาได้แต่ละอย่างมันใช้ความอดทนสูง และถ้าวันหนึ่งเรามีเราลืมตาอ้าปากได้ เรารวยเรามีกิน เราอยากจะเผื่อแผ่คนที่ไม่มีกินให้เขาได้กิน”

พี่ญา : สร้างอาชีพ

ชีวิตต้องดิ้นรน ประโยคนี้ไม่ใช่เรื่องผิด กลับเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริงด้วยซ้ำ เมื่อมีภาระทางครอบครัวต้องแบกรับ

วันหนึ่งเมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้นพี่ญาและสามีคุยกันตัดสินใจว่าจะลาออกจางานโรงงานมาขายของ ลำพังค่าใช้จ่ายที่มีไม่พอกับครอบครัว ถัดจากนั้นก็มาขายผลไม้สด ไม่นานก็เปลี่ยนมาขายปลาทอดที่ตลาดดินแดง เรื่อยมา 18 ปี และเป็นพี่ญาคนรุมที่หลายคนรู้จัก

“พี่ญาเป็นคนชอบขายของไม่แพง เพราะพี่ญาคิดว่า ถ้าเราขายแพงเราจะขายไม่ดี คิดว่าตรงนี้ที่ของฉันแล้ว พี่ญาก็เลยอยู่ตลาดดินแดงมาประมาณ 18 ปี ทุกวันนี้ก็ยังขายอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีโรงงานพี่ญาก็ไม่เลิก จากต้นกำเนิดของเรา เราไม่ลืม”

ปัจจุบันโกดังของพี่ญาอยู่คลองสาม ขายแหนม ขนมขบเคี้ยว ขนมของขวัญของฝาก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หมูแผ่นทอด และที่สำคัญนั่นคือ น้ำพริก มากกว่า 30 ตัว ตั้งแต่ 

“น้ำพริกหมูกระจก หนังไก่ กากหมู นรกปลา นรกกุ้ง นรกร้า เผาปลาร้า ตาแดงปลาย่าง ตาแดงกุ้ง ตาแดงแมงดา เผาแมงดา ปลาหมึกกะตอย ปูกะตอย หมูผัดกะปิ หมูชาววัง อันนี้พี่ญาคิดสูตรเองหมดเลย ยังไม่หมดนะ เยอะ ถามว่าจริงๆ คิดได้อีกไหม คิดได้อีก แต่ลูกน้องทำไม่ทัน” 

เธอหัวเราะพร้อมรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์

แม้ราคาจะเริ่มต้น 40 บาทต่อกระปุก เพราะสิ่งสำคัญและเป้าหมายที่แท้จริงสำหรับเธอคือต้องการสร้างอาชีพให้กับผู้คน

“อาชีพแต่ละอย่าง มันไม่สำเร็จได้ภายใน 1 วัน หรือ 2 วัน อาชีพแต่ละอย่างมันต้องใช้ความชำนาญเป็นปี แล้วอาชีพแต่ละอย่างที่พี่ญาเอามาสอนผู้คน พี่ญาจะจับมือสอน ถ้าเขาทำไม่เสร็จ ไม่สำเร็จ หรือไม่ผ่าน พี่ญาก็จะไม่ขายของให้ เพราะเรากลัวว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ”

“เพราะพี่ญากลัวว่าเขาจะทำให้มันล้ม พอเขาล้ม เขาก็จะท้อ คนเราพอลงทุนไปพันสองพัน ขายไม่ได้ก็จะท้อ จะรู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่น่าได้”

“แต่เรารู้ไง ถ้าเขาเรียนกับเราแล้ว เขาไม่ต้องนับ 1 เขานับ 2 นับ 3 ไปเลย แต่อย่างพี่ญานับ 0 มาก่อน แต่คนที่ผ่านพี่ญาไปเขาต้องได้นับ 4 นับ 5 ไปเลย แล้วเขาจะก้าวข้ามคำว่าพลาด เขาจะไม่พลาด พี่ญาเลยคิดว่าลูกศิษย์ที่มาเรียนกับพี่ญา เขาไม่พลาดแน่นอน เขาไปเปิดร้าน 2-3 วันเขาก็ขายดีเลย”

พี่ญา : แม่(พระ)ค้าที่รัก

หลายคนเข้าใจว่าการเป็นแม่ค้าพ่อค้าก็แค่ขายของ แต่อื่นใดนอกจากการขายยังมีเรื่องอื่นๆ มากมายประกอบเป็นแม่ค้า 1 คนเพื่อให้ได้มาเพื่อเงินทอง

พี่ญา เล่าให้เราฟังว่า มีหลายคนที่เอาแต่อยากได้แต่ไม่เคยให้ แต่หลายคนก็กลับลืมไปว่าการเป็นแม่ค้าก็เป็นคนให้ได้เช่นกัน นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับเธอคือ คนอื่นไม่ใช่ตัวเธอเอง 

“พี่ญาไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องเงิน แต่โฟกัสไปที่ความสุขของคนในครอบครัวมากกว่า แต่เงินเมื่อได้มามันเป็นผลพลอยได้ถือว่าเป็นเรื่องดี”

“ถามว่าทุกวันนี้ตัวเองมีครบหมดหรือยัง มีครบหมดแล้ว ตอนนี้พี่ญาทำเพื่อตัวเองทำเพื่อครอบครัวหมดแล้ว พ่อแม่ พี่น้องพี่ญาช่วยหมดแล้ว”

“แล้วอย่างหนึ่งที่พี่ญาไม่มีคืออะไรรู้ไหม”

“ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก มันได้บุญ บุญเราตายไปแล้วเราเอาไปได้ แต่เงินทองตายไปแล้วเราเอาไปไม่ได้ การที่เราขายของถูกก็คือการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง”

ที่สำคัญไปกว่านั้น ราคาของที่ขายตั้งแต่ขายปลาทอด ไก่ทอด จนมาขายน้ำพริก เธอขายแค่หลักสิบเพื่อให้เข้าถึงง่ายในการบริโภค

“พี่ญาขายถูก เพราะถุงหนึ่งพี่ญาได้กำไรแค่ 1 บาทพี่ญาก็เอา เพราะอะไรรู้ไหมพี่ญาถึงเอาแค่กำไรบาทเดียว”

เรานึกจากคำถาม แล้วตอบไปว่า อยากให้คนได้อาชีพ!

“เปล่า”

“พี่ญาไม่ได้เช่าที่ แล้วเราจะขายแพงทำไม พี่ญาไม่ได้เป็นหนี้ หนี้ก็ไม่เป็นที่ก็ไม่ได้เช่าจะขายแพงไปเพื่ออะไร เพราะทุกวันนี้ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง”

“ที่สำคัญที่สุด ลูกค้ามาหาพี่ญาเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขารักเรา เขารู้ว่ามาหาพี่ญาฉันไม่ถูกหลอกแน่นอน เพราะพี่ญาจริงใจ ต่อไปเราจะขายอะไรเขาซื้อหมด”

ร้านพี่ญาคนรุม

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2566