ฝ้า กระ ปัญหาผิวที่ไม่ควรมองข้าม

ฝ้า กระ ปัญหาผิวที่ไม่ควรมองข้าม

ฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็นหนึ่งในปัญหาผิวหน้าที่พบได้บ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดอันตราย แต่เป็นเรื่องของความสวยงาม จึงส่งผลต่อความมั่นใจ และบุคลิกภาพ

แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ฝ้า กระ เป็นปัญหาผิวหน้าที่พบบ่อยในคนไทย พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งตำแหน่งที่พบฝ้า กระ ได้บ่อย คือ บริเวณใบหน้าที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดมากๆ เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก จมูก เหนือคิ้ว และบริเวณเหนือริมฝีปาก

แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี

ฝ้า เกิดจากการที่เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำงานมากเกินไป จึงทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ โดยแสงแดดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้า และความหมองคล้ำบนใบหน้า ผู้ที่ตากแดดเป็นประจำ เช่น ทำงานกลางแจ้ง เล่นกีฬากลางแดด มีโอกาสที่จะเป็นฝ้าได้มาก, รังสีอันตรายในแสงแดด ไม่ว่าจะเป็น UVA, UVB, แสงที่มองเห็นได้ (Visible light) และรังสี Infrared หรือแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้า ความหมองคล้ำ และริ้วรอยบนใบหน้าได้

นอกจากนี้ การใช้เครื่องสำอางบางชนิด การกินยาบางตัว เช่น ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนสำหรับวัยทอง ยากันชักกลุ่มฟีไนโทอิน (Phenytoin) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ พันธุกรรม ล้วนส่งผลต่อการเกิดฝ้าเช่นกัน

ประเภทของฝ้า

1. ฝ้าชนิดตื้น จะอยู่ในระดับชั้นผิวกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) ฝ้าชนิดนี้จะเป็นสีน้ำตาล หรือดำ ขอบเขตชัดเจน เกิดขึ้นได้ง่าย ใช้เวลาไม่นานในการรักษา

2. ฝ้าแบบลึก จะอยู่ในระดับที่ลึกกว่าชั้นผิวกำพร้า อยู่ในชั้นหนังแท้ ฝ้าชนิดนี้มีขอบเขตไม่ชัดเจน มักเป็นสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเทา สีน้ำตาลอมม่วง ฝ้าชนิดนี้รักษาได้ยาก

3. ฝ้าผสม (Mixed Type) คือมีการผสมกันทั้งฝ้าชนิดตื้น และชนิดลึก เป็นชนิดที่พบมากที่สุด

 

กระ มีลักษณะการเกิดคล้ายกับฝ้าคือ เม็ดสีเมลานิน (Melanin pigment) ทำงานผิดปกติ จึงทำให้สีผิวบริเวณนั้นมีสีน้ำตาลหรือสีดำเป็นจุดเล็กๆ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีผิวขาว ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่ผิวสัมผัสแสงแดดบ่อยๆ เช่น ใบหน้า หลังมือ และแขน

ประเภทของกระ

1. กระตื้น มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล ขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร กระจายอยู่ทั่วใบหน้า และร่างกาย

2. กระลึก มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเทา ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เกิดขึ้นบนชั้นผิวหนังชั้นแท้ ซึ่งอยู่ลึกกว่ากระตื้น

3. กระเนื้อ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ สีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ สามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ลำคอ ไปจนถึงลำตัว

4. กระแดด มีลักษณะเป็นวงกลมสีน้ำตาล และเรียบแนบกับผิว

การรักษา ฝ้า กระ และรอยดำบนใบหน้ามี 5 วิธีดังนี้

1. การรักษาด้วยยา ได้ผลดีในฝ้าตื้นมากกว่าฝ้าลึก การใช้ยาอย่างต่อเนื่องถึง 6 เดือน จะเห็นผลชัดเจนขึ้น ส่วนฝ้าลึกนั้นรักษาค่อนข้างยาก โดยมากต้องรักษาด้วยวิธีการอย่างอื่นร่วมด้วย สำหรับยาทาที่ใช้ในการรักษาฝ้า เช่น

– ยากลุ่มไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาฝ้าเป็นหลัก โดยยาชนิดนี้ จะเป็นตัวลดการสร้างเม็ดสีของเซลล์สร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง โดยไปยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยในการสร้างเม็ดสี (Tyrosinase) แต่มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ การใช้ยากลุ่มไฮโดรควิโนนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

– ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ (Retinoic Acid) สามารถทำให้ฝ้าจางลงได้ดี แต่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ เช่น ผิวแห้งลอก แดง จึงควรเริ่มด้วยการใช้ยาในปริมาณน้อยๆ หรือใช้คืนเว้นคืนก่อน

– ยากลุ่มทรานซามิก (Tranexamic Acid) ซึ่งมีทั้งแบบรับประทาน และยาทา โดยออกฤทธิ์ผ่านกลไกลดการอักเสบใต้ผิวหนัง ทำให้การสร้างเม็ดสีของผิวหนังลดลง ฝ้าจึงจางลดลง

– ยาทาในกลุ่มกรดผลไม้ เช่น Glycolic Acid และ Whitening Cream เช่น กรดอะเซเลอิก (Azelaic acid), อาร์บูติน Arbutin, วิตามิน C, Licorice, วิตามิน B3 (Niacinamide), Kojic Acid (กรดโคจิก)

2. การลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peeling) ต้องทำด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะสามารถก่อให้เกิดแผลเป็นถาวรได้ จากการลอกชั้นผิวที่ลึกเกินไป หลังการลอกผิวควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด

3. การผลัดเซลล์ผิว ทั้งจากการใช้แรงดันจากผงคริสตัล (Micro Peel) การผลัดเซลล์ผิวด้วยการใช้หัวขัดผิว Diamond (Diamond Peel) รวมถึงการผลักยาเข้าสู่ชั้นผิวหนังด้วยการใช้คลื่นเสียง หรือกระแสไฟฟ้า

4. การใช้เทคโนโลยีในเรื่องของเลเซอร์ และแสงที่มีความเข้มข้นสูง ที่ช่วยในการรักษากระ ฝ้า รอยดำ และรอยแดง เช่น Q-switched Nd : YAG Laser, Q-switched Ruby Laser, Picosecond Laser และแสงที่มีความเข้มข้นสูง IPL (Intense Pulsed Light) เป็นเทคโนโลยีเพื่อความงามด้านผิวพรรณ ด้วยการใช้แสงที่มีความเข้มข้นสูง ในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้ผิวสวยใส ดูอ่อนวัย พร้อมทำลายเฉพาะเม็ดสีส่วนเกินในชั้นหนังกำพร้า เราสามารถใช้ IPL ในการรักษากระ กระแดด รอยดำ และรอยแดงหลังหายจากสิว ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ ทำให้ใบหน้าดูสดใสขึ้น

การจะเลือกใช้เลเซอร์ชนิดใดควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยโรค และเลือกเลเซอร์ชนิดที่เหมาะกับปัญหามากที่สุด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

5. การทาครีมกันแดด เราควรทาครีมกันแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA, UVB, Visible Light และ Infrared ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดฝ้า กระ รอยดำ และริ้วรอยต่างๆ ควรทาครีมกันแดดทุกวัน และทาก่อนออกโดนแดดอย่างน้อย 30 นาที

การทาครีมกันแดดควรทาให้ปริมาณที่เพียงพอ โดยมีหลักง่ายๆ คือ ทาทั่วหน้าจะใช้ครีมกันแดดประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ แต่หากทาทั่วหน้าและลำคอ จะใช้ครีมกันแดดประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ ในกรณีที่เป็นฝ้า หรือต้องโดนแสงแดดมาก ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อยประมาณ 30

ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นเวลาที่แสงแดดแรงที่สุด แต่หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากการทาครีมกันแดดเพื่อการปกป้องผิวแล้ว ควรใส่หมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้ร่มกันแดด และสวมใส่แว่นกันแดด ในการป้องกันผิวจากแสงแดดให้ได้มากที่สุด

แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล

แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี