ห้อง Snoezelen รักษาเด็กสมองพิการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ห้อง Snoezelen รักษาเด็กสมองพิการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy เกิดจากสมองได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่างๆ ในช่วงทารกหรือเด็กเล็ก ส่งผลให้มีพัฒนาการที่ล่าช้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว การสื่อสาร การเรียนรู้ และพฤติกรรม ทำให้เด็กมีความผิดปกติที่พบได้บ่อย ได้แก่ การยืนเดินทรงตัวผิดปกติ แขนขาเกร็ง หรือการกลืนสำลัก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเข้าสู่สังคมอย่างมาก

การรักษาเด็กสมองพิการมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาหลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด การทำกิจกรรมบำบัด และการกระตุ้นพัฒนาการ และเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โรงพยาบาลเวชธานีได้มีการใช้ห้อง Snoezelen ซึ่งเป็นห้องบำบัดที่จำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสหลากหลายด้านของร่างกาย ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การดมกลิ่น และยังสามารถใช้ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ใช้ในการทรงตัว ยืนเดิน ที่จะช่วยให้เด็กสมองพิการมีการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น นายแพทย์ฐชิภัทร เสรีอรุโณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า การกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วยห้อง Snoezelen สามารถใช้บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กสมองพิการ เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ที่ส่งผลต่อการเรียน และการดำเนินชีวิตในอนาคต

ภายในห้อง Snoezelen เป็นห้องที่จำลองสิ่งแวดล้อมให้มีสิ่งเร้าที่จะสามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสได้หลากหลายตามหลักการ Multi-sensory Stimulation ประกอบไปด้วย แสง สี เสียง กลิ่นหอม และสัมผัส ทำให้การกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น และใช้เวลาในการรักษาลดลง โดยการใช้ห้อง Snoezelen ในการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ดังนี้

– การเคลื่อนไหว เด็กสมองพิการมักมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ จากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการเกร็ง และการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกัน การใช้ห้อง Snoezelen สามารถช่วยฟื้นฟูปัญหาดังกล่าวได้โดยการใช้อุปกรณ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวด้วยกระดานสัมผัส การทรงตัวบนเตียงน้ำ การใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวตามแสงไฟ เป็นต้น

– การสื่อสาร เด็กสมองพิการมักมีปัญหาด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด หรือพูดติดขัด ซึ่งห้อง Snoezelen สามารถช่วยพัฒนาการสื่อสารของเด็กสมองพิการได้ เช่น การร้องเพลงตามเสียงดนตรี หรือเกมการออกเสียงผ่านไมโครโฟนเพื่อให้เกิดแสงไฟ เป็นต้น

– การเรียนรู้และปัญหาพฤติกรรม เด็กสมองพิการหลายๆ คนมีปัญหาการเรียนรู้ช้าและปัญหาด้านพฤติกรรม ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง หรือทำลายข้าวของ ห้อง Snoezelen สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กสมองพิการ และเด็กกลุ่มออทิสติกได้ เช่น กิจกรรมบำบัดในการฟังเสียงดนตรี การจำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความสงบผ่อนคลาย หรือการใช้ Interactive Playground เพื่อเพิ่มการจดจ่อและสมาธิของเด็ก

นอกจากนี้ ที่ศูนย์ฟื้นฟูเด็กโรงพยาบาลเวชธานียังมีห้อง Adventure Room และ Interactive Room ที่จะช่วยเติมเต็มการฝึกพัฒนาการของเด็กที่มีปัญหาด้านสมองพิการและพัฒนาการช้าได้เป็นอย่างดี

“Adventure Room” เป็นห้องขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่และสิ่งของที่มีรูปทรงหลากสีสัน เป็นห้องที่ออกแบบไว้สำหรับการผจญภัยของเด็ก เน้นการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว และการกระตุ้นประสาทสัมผัสผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมปีนป่าย กิจกรรมเดินข้ามสิ่งกีดขวาง หรือกิจกรรมเล่นน้ำในบ่อบอล โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ

“Interactive Room” เป็นห้องบำบัดที่เน้นการบำบัดด้วยเกมผ่าน Interactive Projector หรือ Interactive Playground ซึ่งมีเกมการฝึกที่หลากหลาย ทั้งเกมที่เน้นการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว การประสานงานของกล้ามเนื้อ การจดจ่อ และการคิดคำนวณ

จากการใช้เกมการฝึก เทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้เด็กรู้สึกสนุก เพลิดเพลินและจดจ่ออยู่กับการฝึก โดยจะมีนักกายภาพบำบัดที่เปรียบเสมือนเพื่อนคอยให้การดูแลการฝึกอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เด็กอยากมาฝึกที่โรงพยาบาล จึงสามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เด็กจะไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกบังคับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกเด็กให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีตามเป้าหมายที่ร่วมกันตั้งไว้ระหว่างทีมรักษาและผู้ปกครอง

โรงพยาบาลเวชธานีมีความพร้อมในการรักษาเด็กสมองพิการ พัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม ที่จะช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์ การเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตัวเอง โดยเน้นการรักษาที่มีความเป็นส่วนตัว มีนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดคอยฝึกอย่างใกล้ชิด และมีกล้องวงจรปิดให้กับพ่อแม่คอยดูการบำบัดฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1-2 ชั่วโมง/Session ระยะเวลาการรักษาประมาณ 2-3 เดือนขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดฟื้นฟูด้วย หุ่นยนต์ช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเดินและการทรงตัวของร่างกาย (Robotic-assisted Gait and Balance Training) เช่น C-Mill Machine หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเดินในสภาพจำลองเสมือนจริง, Lokomat Machine หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและการยืนเดิน, Armeo Spring หุ่นยนต์ฝึกการเคลื่อนไหวของแขน

ทั้งนี้ พ่อแม่ควรสังเกตพัฒนาการของลูกหากพบว่ามีพัฒนาการช้า หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อประเมินและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น