‘ฟายด์ โฟล์ค’ เปิดประสบการณ์ เที่ยวชุมชน ‘วัดผลลดปล่อยคาร์บอนได้’

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่ทุกคนเริ่มตระหนักได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยผลสำรวจของบริษัท SAP Concur บริษัทชั้นนำที่ให้บริการด้านการเดินทาง พบว่า ในปี 2566 นักเดินทาง 95% ต้องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยจึงขานรับเทรนด์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (Find Folk) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จ จากการเป็นทั้งที่ปรึกษา และผู้ออกแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้สนับสนุนโครงการ Low Carbon Tourism ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณจักรพงษ์ ชินกระโทก CEO & Founder บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด เจ้าของรางวัล ‘รองชนะเลิศระดับโลก’ Low Carbon ที่คัดเลือกจากสตาร์ตอัป 1,000 รายทั่วโลก จะมาเปิดมุมมองและแนวคิดการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแบบใหม่ ในวันที่การอนุรักษ์ครองใจผู้คน เราจะปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

เลือกเรียนท่องเที่ยว เพราะอยากพาครอบครัวพ้นความลำบาก คุณจักรพงษ์ เกิด เติบโต และเล่าเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลง่ายๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กคนหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัด ที่คิดแค่เพียงอยากพาครอบครัวออกจากความยากลำบาก ซึ่งการเป็นเด็กท่องเที่ยวถูกมองว่า ‘ง่าย’ ไม่เท่เหมือนเรียน หมอ หรือวิศวกร ทั้งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ค่อนข้างสูง จึงเป็นความท้าทายสำหรับเขามาก และเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยน ตอนเรียนปี 2 ได้มีโอกาสไปช่วยอาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว 20 ชุมชนในภาคอีสาน ครั้งนั้น ทำให้ คุณจักรพงษ์ เห็นลู่ทางในวิชาชีพว่า หากเรียนจบการท่องเที่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพไกด์หรือทำงานในโรงแรม-ภัตตาคาร เสมอไป แต่ยังมีอาชีพนักวิจัย นักพัฒนา และนักสร้างแบรนด์ที่คนเรียนการท่องเที่ยวสามารถนำไปประยุกต์เพื่อประกอบอาชีพได้เช่นกัน

รายได้ท่องเที่ยวอันดับ 4 แต่ขีดความสามารถแข่งขันอยู่ 31 ของโลก คุณจักรพงษ์ มองว่า ปี 2018 เป็นยุคที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุด ถือเป็นปีทองของไทย โดยทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 ของโลก แต่เมื่อมองอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index : TTCI) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับ 31 ของโลก นั่นหมายความว่า ด้านเศรษฐกิจเราทำได้ดีมาก แต่ขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการบริหารจัดการต่างๆ กลับเป็นรองประเทศอื่นอยู่มาก เมื่อตรวจสอบจากผลการประเมิน พบว่าหนึ่งในตัวชี้วัดที่ได้คะแนนน้อย คือเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เริ่มตื่นตัวขานรับเทรนด์โลก เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น

ความพร้อม + โอกาส = ความโชคดี คุณจักรพงษ์ ตั้งคำถามในใจว่า ทำไมเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของเราเติบโต แต่ด้านการจัดการกลับสวนทางกัน แสดงว่าการจัดการของเรามีปัญหา นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลที่เราก่อตั้ง บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (Find Folk) ขึ้นมา เพราะอยากเห็นการบริหารจัดการท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดความยั่งยืน (Sustainability)

“เราอยากเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยออกจากความยากลำบาก เติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนเรียนการท่องเที่ยว หันมาเป็นนักวิจัย นักพัฒนา และเป็นนักสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยั่งยืนมากขึ้น”

จุดเริ่มต้นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ว่า ฟายด์ โฟล์ค เกิดขึ้นมาในฐานะที่ปรึกษาการบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวของเราไม่ใช่การ ชิม ช้อป แชร์ แล้วกลับ แต่เราเที่ยวแบบลึกซึ้ง ที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทยโตเฉพาะรายใหญ่ แต่คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรในชุมชนกลับไม่เติบโตตามไปด้วย ทั้งที่เป็นเจ้าของทรัพยากร สุดท้ายกลับได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น เราจึงอยากสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของทรัพยากร โดยทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งการทำงานของ ฟายด์ โฟล์ค มีโมเดลการทำงาน 3 ส่วน คือ การพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากร และพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ เป็นหลักการเดียวกับที่เราเคยลงพื้นที่ชุมชนเมื่อครั้งทำวิจัยร่วมกับอาจารย์

“เราไม่ได้เลือกชุมชน แต่ชุมชนเลือกเรา โดยเราเป็นเหมือนโค้ชและเมนเทอร์ ทำหน้าที่เติมในสิ่งที่ชุมชนขาด แล้วเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาให้เหมาะกับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีคิดงานของเรา จะพยายามสร้างโมเดล เมื่อโมเดลนั้นสำเร็จ ชุมชนก็เป็นเมนเทอร์ให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป การทำงานของเราไม่ได้เข้าไปช่วยเขา แต่มองว่าเราเป็นผู้มีประโยชน์ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ตลอด 5 ปีเราสร้างชุมชนท่องเที่ยวใหม่น้อยมาก เพราะก่อน ฟายด์ โฟล์ค เกิด มีคนพัฒนาเป็นพันเป็นหมื่นชุมชนแล้ว เราเพียงเข้าไปต่อยอด โดยจุดมุ่งหมายของเรา คือเมื่อถอยออกมา ชุมชนยังสามารถทำการท่องเที่ยวต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรายังเป็นที่ปรึกษาให้เขา เพื่อให้เขาไปต่อด้วยตัวเองได้

“เราไม่ได้บอกว่าเราเก่งที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพียงแต่เราคอยแก้โจทย์ให้ลูกค้า เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการพัฒนา เพราะเรามีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เพียงแต่หาคน หาสีสันมาเติมเต็มให้สนุกขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง”

ข้อได้เปรียบของไทยในการเป็น “แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว” หากพิจารณาถึงข้อได้เปรียบของไทยที่จะเป็น “แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว” ได้ คุณจักรพงษ์ ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพและลักษณะเฉพาะตัวของคนไทย เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี บวกกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มเสน่ห์และเป็นพลังเสริมให้แม่เหล็กนั้นมีแรงดึงดูดมากขึ้น

คุณจักรพงษ์ ฉายภาพว่า ปัจจุบันชุมชนทำธุรกิจเก่งขึ้นมาก โดยเฉพาะทางภาคใต้ เขาจะรู้เรื่องการบริหารต้นทุนมากขึ้น โดย DNA ไทยเราเป็นเจ้าบ้านที่ดีอยู่ในตัว เรียกว่า Customize Experience คือประสบการณ์ที่ออกแบบได้สำหรับลูกค้า

“ยกตัวอย่าง เช่น เราไปเที่ยวญี่ปุ่น อยากกิน ราเมน ที่ไม่เผ็ด จะปรับเปลี่ยนอะไรของเขาจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าเป็นเมืองไทย ไปกินก๋วยเตี๋ยว คนหนึ่ง สั่งไม่ใส่ถั่วงอก อีกคนขอเผ็ดๆ ส่วนอีกคนขอแบบไม่เผ็ดเลย คนไทยเราทำได้หมด ประเทศไทยจึงมี DNA ที่ประเทศอื่นลอกเลียนแบบได้ยากมาก

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการบริการระดับโลก เมื่อเติมเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ทำให้เราเป็นแม่เหล็กที่แข็งแรงในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่ง ฟายด์ โฟล์ค เป็นเหมือนประตูที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสู่สัมผัสชุมชนในมิติการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การันตีด้วยรางวัล ‘รองชนะเลิศระดับโลก’ Low Carbon ที่คัดเลือกจากสตาร์ตอัป 1,000 รายทั่วโลก โดย เร็วๆ นี้ เราจะเปิดตัวโปรโมชันแรก คือ 1,000 สิทธิ์ลด 50% โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะทำร่วมกับ 10 ชุมชน ในคอนเซ็ปต์ ‘Low Carbon Tourism’ ในช่วงวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

Local Low Carbon เที่ยวชุมชนวัดผลลดคาร์บอนที่แรก สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) มอบหมายให้สมาชิกสมาคมกว่า 80 บริษัท ได้ลองออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว Low Carbon และนำเส้นทางดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรม เช่น เส้นทาง A เดิมเคยนำนักท่องเที่ยวขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว นอนโฮมสเตย์ติดแอร์ คำนวณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ออกมาได้ 500 หน่วย ทีนี้ถ้าเราลองให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากขี่มอเตอร์ไซค์ มาปั่นจักรยานในระยะทางที่เท่ากัน เปลี่ยนจากนอนโฮมสเตย์ติดแอร์เป็นนอนเต็นท์ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เหลือ 200 หน่วย นี่เรียกว่าเป็นการ ‘ร่วมลด’ หลังจากนั้น ถ้าอยากทำให้การท่องเที่ยวมีปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ก็อาจจะมีแนวทางพัฒนาและหาคาร์บอนเครดิตมาทดแทนต่อไปได้

สำหรับ Local Low Carbon เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือวัดผลการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

  1. รณรงค์การใช้รถสาธารณะหรือใช้รถคันเดียวกัน
  2. ลดการใช้กระดาษและพลาสติก
  3. งดใช้โฟมเพื่อตกแต่งหรือเป็นภาชนะใส่อาหาร
  4. ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า
  5. ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมา Reuse หรือ Recycle ได้
  6. ตักอาหารให้พอดีรับประทาน

สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณ หากเราลดการใช้สิ่งเหล่านี้ได้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ ซึ่งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (GTO) จะมีค่ากลางในการคำนวณ เช่น กระดาษ A4 1 แผ่น น้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาคำนวณ ซึ่งถ้าเราออกแบบทริปในการเที่ยวดี จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างโครงการ Low Carbon Tourism เส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วย 3 แนวคิดหลักของโครงการ คือ ปรับ ปรับพฤติกรรมการเดินทางในการท่องเที่ยว เช่น การปั่นจักรยาน ทำให้ไม่เสียค่าน้ำมัน เพิ่มเวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลด ลดขั้นตอนการผลิตและบริโภค ลดใช้พลาสติก ลดใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย ชดเชย ชวนนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมดีๆ เรียนรู้วิถีชุมชน ปลูกต้นไม้หายาก ชดเชยความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ เพราะเราไม่สามารถทำให้การบริโภคเป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดขั้นตอนการผลิตและบริโภคให้น้อยลงกว่าเดิมได้

เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนแบบ Local Low Carbon ทริป ‘ล่องเรือ เรียนรู้ ชิมส้มโอแบบโลว์คาร์บอน’ (One Day Trip) นักท่องเที่ยวจะได้สนุกกับการเรียนรู้ สมาร์ทฟาร์มอินทรีย์ ต้นแบบการท่องเที่ยวไร้คาร์บอน สวนแรกในไทย แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ที่มีการจัดการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วย ความพิเศษของโปรแกรมนี้ คือ หลังจบทุกกิจกรรมทางชุมชนจะสรุปผลการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์เทียบจากการทำกิจกรรมรูปแบบเดิม ผลตัวเลขเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ซึ่งวันนี้เท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 152 ต้น ซึ่งหลายกิจกรรมในโปรแกรมเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วในกระบวนการท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น การเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราทุกคนต้องใส่ใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถนำกลับไปทำในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย

ปัจจุบันมีชุมชนที่ดูแลกี่ราย แล้วดึงดูดลูกค้ามาท่องเที่ยวได้อย่างไร? ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เริ่มหยั่งรากลึก ถ้ามองด้านเศรษฐศาสตร์เป็นแรงกดดันที่ต้องทำ (Force Move) และจำเป็นต้องทำ (Need to do) ถ้าไม่ทำไทยจะตกขบวนอย่างแน่นอน ซึ่ง ฟายด์ โฟล์ค พยายามศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปี 2021 เราได้รับการสนับสนุนพันธมิตรหลายภาคส่วน เรามีชุมชนที่ดูแลอยู่ประมาณ 200-300 ชุมชน ซึ่งถ้านับจริงๆ มีชุมชนที่เราเคยทำงานด้วยเป็น 1,000 ชุมชน แต่แบ่งเป็น ชุมชนที่รับนักท่องเที่ยวเองได้แล้ว กับชุมชนที่กำลังพัฒนา ต่อยอดอยู่ หรือชุมชนที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นลักษณะ ชุมชนดี แหล่งท่องเที่ยวดี แต่ยังไม่มีใครทำ ในส่วนของ ฟายด์ โฟล์ค เราอยู่ใน Stage ของคนที่ลงไปต่อยอด ที่ส่วนใหญ่มีคนเข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งตลอด 6 ปีที่ทำงานร่วมกับชุมชนมา เราสร้างชุมชนท่องเที่ยวใหม่น้อยมาก เพราะก่อน ฟายด์ โฟล์ค เกิด มีคนพัฒนาเป็นพันเป็นหมื่นชุมชนแล้ว เราเพียงเข้าไปต่อยอด ทำหน้าที่บริหารจัดการ ทำการตลาดหาคนมาท่องเที่ยว ทำให้สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับโดยจุดมุ่งหมายของเรา คือเมื่อถอยออกมา ชุมชนยังทำการท่องเที่ยวต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรายังเป็นที่ปรึกษาให้เขา เพื่อให้เขาสามารถไปต่อได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนนั่นเอง

หลักเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนของ ฟายด์ โฟล์ค คุณจักรพงษ์ เผยถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกชุมชนว่า ชุมชนที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้ โดยเราจะมีการสัมภาษณ์และให้ชุมชนส่งโปรแกรมการท่องเที่ยวมา แล้วเราจะลงไปดูว่าสามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ตามโปรแกรมจริงหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการคำนวณก๊าซเรือนกระจก ฟายด์ โฟล์คจะจัดการให้ทั้งหมด ซึ่งทุกทริปในการเที่ยวต้องมีการปล่อยคาร์บอนอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรจึงจะปล่อยให้น้อยที่สุด อย่าง 10 ชุมชนที่จะประกาศแคมเปญ เราจะเข้าไปแนะแนวทางว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตรงไหนได้บ้าง เช่น ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ การเดินทางตรงไหนใช้จักรยานแทนได้ เป็นต้น

ล่าสุดเราพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา ชื่อ GoGreenBooking.com เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับจำหน่ายเฉพาะสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกสินค้าและบริการที่จำหน่าย รวมถึงที่เกิดจากการขนส่ง การผลิต การใช้พลังงาน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ หมายความว่า ถ้าไปเที่ยว 1 ทริป เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ และเราสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในการ Offset ได้ด้วย

ก้าวต่อไปของ ฟายด์ โฟล์ค CEO หนุ่มเจ้าของแนวคิดธุรกิจท่องเที่ยว Low Carbon ให้มุมมองว่า การท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่า ไทยจะสามารถทวงบัลลังก์ประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวติด TOP 5 ของโลกได้ ซึ่ง คุณจักรพงษ์ มองว่าการทำตลาดไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไทยมีหลายปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินที่เหมาะสม ทรัพยากรที่หลากหลาย อัตลักษณ์ชุมชนที่น่าสนใจ ความเจริญ สะดวกสบายระดับ 5-6 เราก็มี สิ่งเหล่านี้จะทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับเป้าหมาย ฟายด์ โฟล์ค มีแผนที่ต้องไปให้ถึง คือ การเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะนี้มีบริการครอบคลุม ทั้งบริการที่ปรึกษา บริการทัวร์ และบริการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เหมือนตอนต้นที่บอกไว้ เราจะทำให้เรื่อง Green เป็นเรื่องง่าย ใครก็เที่ยวแบบ Green ได้ง่ายนิดเดียว ถ้านึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ให้นึกถึง ฟายด์ โฟล์ค และอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของ ฟายด์ โฟล์ค คือ มุ่งหวังให้การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลายไม่เหมือนประเทศอื่น

“ทุกวันนี้การท่องเที่ยวไม่ได้แข่งกันทำยอดขาย แต่แข่งกันทำแต้มแห่งความดี นั่นหมายถึง การเป็นโรงแรม ที่พัก แหล่งท่องเที่ยวที่ดี เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์นั่นเอง”

ส่วนเป้าหมายสุดท้าย เราจะเป็นผู้ให้ความรู้ (Educate) คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ว่าการเที่ยวที่ดี และยั่งยืน จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เจ้าของทรัพยากรมีรายได้ ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีความสุข เพราะได้ประสบการณ์ดีๆ จากการมาท่องเที่ยวกลับไป ขณะที่ธรรมชาติเองก็ได้รับการอนุรักษ์ ถือเป็น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

คุณจักรพงษ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่า “อยากเห็น New Destination Branding ของการท่องเที่ยวไทย คือ Sustainable Destination เพราะปัจจุบันเกิดภาพจำในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ Value Money ถูกมองว่าคุ้มค่า คุ้มราคา แต่นักท่องเที่ยวไม่เห็นคุณค่า ซึ่งอยากเปลี่ยนภาพจำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมองว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีและยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมีการจัดการที่ดี”

ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่  www.Bangkokbanksme.com

รู้จัก บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ได้ที่ https://www.facebook.com/FindFolker/?locale=th_TH