เริ่มต้นจากตลาดนัด สู่แฟรนไชส์เนื้อย่างเจ้าดัง ส่งต่ออาชีพให้คนทุนน้อยด้วยงบหลักพันบาท

เริ่มต้นจากตลาดนัด สู่แฟรนไชส์เนื้อย่างเจ้าดัง ส่งต่ออาชีพให้คนทุนน้อยด้วยงบหลักพันบาท
เริ่มต้นจากตลาดนัด สู่แฟรนไชส์เนื้อย่างเจ้าดัง ส่งต่ออาชีพให้คนทุนน้อยด้วยงบหลักพันบาท

เริ่มต้นจากตลาดนัด สู่แฟรนไชส์เนื้อย่างเจ้าดัง กำลังผลิต 800,000 ไม้ ส่งต่ออาชีพให้คนทุนน้อยด้วยงบหลักพันบาท

จากจุดเริ่มต้นของคนชอบทานเนื้อย่าง สู่ร้านเล็กๆ ในตลาดนัดจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสูตรเนื้อย่างต้นตำรับที่หาใครเลียนแบบได้ยาก ประกอบกับความนุ่มของเนื้อโคขุนจากเกษตรกรไทย ทำให้ ต.เนื้อย่าง กลายเป็นแบรนด์ชื่อดังที่ยืนหยัดธุรกิจมาได้ยาวนานกว่า 10 ปี และยังสร้างอาชีพให้กับผู้คนมากมายราว 500 สาขา ด้วยแฟรนไชส์ราคาเริ่มต้นหลักพันบาท

จากร้านตลาดนัด สู่แฟรนไชส์

คุณโสภี เชื้อสาร เจ้าของ ต.เนื้อย่าง
คุณโสภี เชื้อสาร เจ้าของ ต.เนื้อย่าง

คุณโสภี เชื้อสาร เจ้าของ ต.เนื้อย่าง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ให้ฟังว่า ต.เนื้อย่าง ก่อตั้งโดยสามพี่น้อง ต้น ตั๊ก ต้า นำโดยพี่ใหญ่ คุณต้น ผู้ชื่นชอบการทานเนื้อย่างมาตั้งแต่เด็ก

“ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน ต้นชอบกินเนื้อย่างมาก แต่ในจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีเนื้อย่างขายเหมือนร้านหมูปิ้งทั่วไป ถ้าอยากกินต้องรอช่วงเย็นตามร้านเหล้าที่เขาทำขายเป็นกับแกล้ม เลยทำให้เขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และมีความตั้งใจอยากทำเนื้อย่างให้หาซื้อง่ายเหมือนหมูปิ้ง

ประกอบกับเมืองไทยมีการพัฒนาโคขุนสายพันธุ์ต่างๆ เขาจึงได้เริ่มศึกษาและพัฒนาสูตรประมาณ 1 ปี มันยากมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเนื้อย่างจะต้องออกมาเป็นรสชาติแบบไหน”

เนื้อย่าง
เนื้อย่าง

หลังพัฒนาสูตรแรก สูตรต้นตำรับได้สำเร็จ คุณต้นที่เรียนจบด้านกฎหมายได้เริ่มเปิดร้านเนื้อย่างตามความชอบของตัวเองที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ 

“ต้นอยู่ในสายงานผลิต ส่วนหน้าที่ขายให้ ต๊ะ น้องสาวมาช่วยเพราะเขาเคยขายเครื่องสำอางมาก่อน ลักษณะร้านเป็นการกางเต็นท์ ขนาดล็อก 2×2 เมตร ขายไม้ละ 6 บาท วันหนึ่งขายได้ 2,000-3,000 ไม้ เรียกว่าย่างกันแทบไม่ทัน

พอขายได้ประมาณ 6 เดือนหรือ 1 ปีนี่แหละ มีพ่อค้าเขาเห็นว่าเราขายดี เลยมาถามว่าแบ่งขายแฟรนไชส์ให้ได้ไหม อยากขายดีบ้าง จากที่ไม่คิดเรื่องแฟรนไชส์ ก็ยอมเปิดโอกาสให้ เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มทำแฟรนไชส์ และน้องสาวอีกคน ต้า ก็เข้ามาช่วยดูเรื่องการออกบูธตามงานต่างๆ” เจ้าของ ต.เนื้อย่าง เล่าให้ฟัง 

เนื้อย่าง
เนื้อย่าง

โคขุนจากเกษตรกรไทย ขายราคาสตรีตฟู้ด 

ข้อจำกัดของเนื้อย่าง คือความเหนียว ต่างจากหมูปิ้งที่เนื้อนุ่ม แม้วิธีการทำให้เนื้อไม่เหนียวจะเป็นเรื่องยาก แต่คุณโสภีบอกว่า คุณต้นสามารถทำได้ นอกจากไม่เหนียวแล้ว ยังเคี้ยวง่ายมาก

“เราใช้เนื้อหลายส่วนจากหลายสายพันธุ์ แต่มีสายพันธุ์หลักคือ โคขุนโพนยางคำ และโคขุนกำแพงแสน เราสั่งซื้อจำนวนมากจากเกษตรกรไทยล้วนๆ เพราะเราวางตำแหน่งแบรนด์เป็นสตรีตฟู้ด ถ้าไปนำเนื้อนอกมาขายจะมีต้นทุนสูง และไม่สามารถทำราคาสตรีตฟู้ดได้ มาขายไม้ละ 10 บาทเหมือนทุกวันนี้ไม่ได้แน่นอน”

เนื้อย่าง
เนื้อย่าง

สำหรับรสชาติของเนื้อย่าง ปัจจุบันมีให้เลือก 6 สูตร แบ่งเป็น 4 สูตรหลัก คือ ต้นตำรับ รสกลมกล่อมกำลังดี, พริกไทยดำ รสอร่อย เผ็ดร้อน, พริกหม่าล่า รสเด็ด เผ็ด ชา และพริกเกาหลี ครบรสทานเพลิน ส่วนอีก 2 สูตรอยู่ในรูปแบบซอส คือ ซอสบาร์บีคิวและจิ้มแจ่ว สามารถใช้หมัก ทา และจิ้มได้

“ทั้ง 4 สูตร มีสัดส่วนการขาย ดีที่สุดคือ ต้นตำรับ 50% รองลงมาคือ พริกไทยดำ 30% และพริกหม่าล่ากับพริกเกาหลีอย่างละ 10% สาขาของเราส่วนใหญ่จะสั่งต้นตำรับ 500 ไม้ พริกไทยดำ 300 ไม้ พริกเกาหลีกับหม่าล่าอย่างละ 100 ไม้”

ภาพจากเพจ ต.เนื้อย่าง
ภาพจากเพจ ต.เนื้อย่าง

แฟรนไชส์สร้างอาชีพ ด้วยงบหลักพัน 

ปัจจุบัน ต.เนื้อย่าง มีแฟรนไชส์ประมาณ 500 สาขา โดยมีรูปแบบคือ ไม่มีค่าแฟรนไชส์ ไม่มีค่าแรกเข้า และไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมตลอดการขาย 

“เราเข้าใจคนไม่มีต้นทุน หรือคนที่อยากทำอาชีพเสริม เลยไม่เก็บค่าแฟรนไชส์ บาทเดียวก็ไม่เก็บ เราอยากให้คนเข้าถึงได้ด้วยเงินลงทุนแค่หลักพันบาท เอาไปลองขายดูก่อน ถ้าขายได้ค่อยไปต่อ ถ้าขายไม่ได้ก็หยุด ไม่เจ็บตัว

ขายไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากทำเลแล้ว 50% เนื้อย่างจะขายดีมากในช่วงเย็น ทำเลที่เหมาะสมจึงเป็นตลาดนัด เราเลยได้เห็นแฟรนไชส์ ต.เนื้อย่าง อยู่ในตลาดนัดแล้ว 300 สาขา มันต่างกับหมูปิ้งที่ขายดีมากในช่วงเช้า” คุณโสภี แชร์ให้ฟัง 

แฟรนไชส์งบหลักพัน
แฟรนไชส์งบหลักพัน

ก่อนแนะนำต่อ สำหรับชุดทดลองขาย เริ่มต้นด้วยงบ 3,000 บาท ประกอบด้วย เนื้อโคขุนติดมัน 500 ไม้ ในจำนวนนี้สามารถคละสูตรได้ ป้ายไวนิล 100×80 เซนติเมตร และสติกเกอร์บอกรสชาติบอกราคา

ในการย่าง สามารถใช้เตาถ่าน เตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้าได้ ไม่มีการบังคับ และไม่ต้องเป็นกังวลว่าย่างไม่เป็น เพราะ ต.เนื้อย่าง มีคลิปสอนอย่างละเอียด พร้อมคำแนะนำควรย่างให้สุกเพียง 80% เมื่อลูกค้าซื้อค่อยนำมาอุ่นก่อนเสิร์ฟ

“แฟรนไชส์เราคืนทุนในครั้งแรก ถ้าขายไม้ละ 10 บาท ขายหมด 500 ไม้ จะได้เงินกลับมา 5,000 บาท หลังจากนั้นมาซื้อวัตถุดิบไปขายต่อ ขั้นต่ำ 500 ไม้ เราจัดส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิถึงหน้าบ้านทั่วประเทศ พร้อมออกจากศูนย์กระจายสินค้าประจำจังหวัดทั้ง 60 แห่ง จากกำลังการผลิตพร้อมส่ง 800,000 ไม้ต่อเดือน ดูว่าเยอะแล้วแต่จำนวนนี้ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่แตะเดือนละ 1,000,000 ไม้

เนื้อย่าง
เนื้อย่าง

ราคาขาย เราแนะนำถ้าขายในตลาดนัดให้สาขาตั้งราคาไม้ละ 10 บาท ราคานี้ขายง่าย คนสะดวกใจซื้อ แพงกว่านี้บาทเดียวก็ซื้อขายยากแล้ว ถ้าขายหน้าห้างหรือหน้าเซเว่นฯ อนุโลมให้ไม้ละ 10-12 บาท ถ้าขายดีลิเวอรีอนุญาตให้ไม้ละ 10-15 บาท เพราะต้องจ่ายค่าจีพี เราเข้าใจทุกคน ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ ทั้งหมดที่ว่ามาเราดูสถานการณ์ของแต่ละสาขาเป็นหลัก” 

และว่า 

“เราเป็นเนื้อย่างเจ้าแรกของไทย ก่อนโควิดมีคู่แข่งเยอะมาก แต่ก็ล้มหายตายจากไปบ้างหลังโควิด มันเป็นตัววัดความแข็งแกร่งของแบรนด์เลยว่าถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้” คุณโสภี ทิ้งท้าย 

สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ต.เนื้อย่าง