“กายา” ตอบโจทย์วิถีชีวิตปลอดสาร ร้านค้า “ขยะเหลือศูนย์” เจ้าแรกบนเกาะเต่า

“กายา” ตอบโจทย์วิถีชีวิตปลอดสาร ร้านค้า “ขยะเหลือศูนย์” เจ้าแรกบนเกาะเต่า

“โกดำ – อร่าม ลิ้มสกุล” หนุ่มใหญ่วัย 58 ปี พื้นเพเป็นคนเกาะพะงัน ว่ากันว่า เป็น “คนเกาะ” คนแรกๆ ที่พูดเรื่องการอนุรักษ์ และหลังใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ทั้งในและต่างประเทศ วันนี้เขาเลือกที่จะหันหลังให้กับโลกแห่งมายาวัตถุ และเดินหน้า ดิ่งลึกเสาะแสวงหาความสงบภายใน จากธรรมะ จากธรรมชาติ

ล่าสุด เขากับ ชาลินี เนกิ (Shalini Negi) ภรรยาสาวชาวอเมริกัน ผู้เป็นกำลังสำคัญ ได้ร่วมกันออกไอเดียและผลักดันให้ธุรกิจขนาดเล็กๆ กะทัดรัดที่แอบแฝงไว้ซึ่งปรัชญาแห่งธรรมะ ชื่อร้าน “Gaia Organic Living & Zero Waste” เกิดขึ้นเป็นร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี ตั้งอยู่บนเกาะเต่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นร้านค้าที่มีแนวคิด “ของเสียเหลือศูนย์”

โกดำ

“ร้านชื่อ -กายา-กายา คือ กาย คือ เอิร์ธ (Earth) คือ แผ่นดิน เพราะต้องการให้คนคิดถึงตัวเอง และคิดถึงโลกด้วย เรารักตัวเองก็ต้องรักโลก รักแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย นี่คือร่างกายของเรา ร่างกายของเราต้องการแผ่นดิน ต้องอาศัยแผ่นดิน แล้วเราทำแผ่นดินให้สกปรกปนเปื้อนสารพิษ” โกดำ เกริ่นถึงความหมายของชื่อร้าน

ก่อนอธิบายต่อ กายา คือ ร้านค้า ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตปลอดสาร และวิถี “ของเสียเหลือศูนย์” ที่แนะนำรูปแบบการบริการแบบไม่ต้องพึ่งพาหีบห่อที่ไม่จำเป็นกับชีวิต โดยใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่และนำไปทำปุ๋ยได้ ฉะนั้นก่อนมาร้านแห่งนี้ ลูกค้าอย่าลืมนำกระปุก ขวดแก้ว ถุงผ้า ถุงกระดาษมาใส่ผลิตภัณฑ์เองด้วย

“ต้องการสอนคน ให้รู้จักเรื่องการลดขยะที่ไม่จำเป็น เช่น พลาสติก” โดยครั้งนี้ โกดำ เลือกใช้วิถีธุรกิจเป็นสื่อการสอน

“ผมต่อต้านพลาสติกมานานแล้ว ตั้งแต่เรียนจบใหม่ โดนคนด่ามาเยอะ เพราะบางทีไปตลาดในกรุงเทพฯ แม่ค้าที่ชอบมาขายของให้ผมใส่กล่องโฟม ผมบอกไม่ซื้อ ทำไมใส่กล่องโฟม ทำไมไม่ใส่กล่องกระดาษ หรือไม่ห่อใบตอง ผมเป็นคนขวางโลกมานานแล้ว” เขายืนยันความเป็นคนขวางโลกจนทุกวันนี้ แต่เรื่องนี้เกิดจากความฝังใจตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนวิทยาลัยสาธารณสุขภาคใต้

“ย่าผมเสียเพราะมะเร็ง ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ แล้วผมรักย่าที่สุด เลยศึกษามะเร็งตั้งแต่อายุสิบขวบ ว่าทำไมถึงเกิดมะเร็ง ผมชอบถามหมอ ญาติที่เรียนหมอ ตอนเรียนหมอเองก็ถามอาจารย์ ก็ได้ข้อมูลว่าเกิดจากสารพิษ สารเคมีทำให้ร่างกายเราเครียด” โกดำ เล่าความหลังให้ฟังอย่างนั้น

และความที่โกดำ อาศัยอยู่เกาะเต่าตั้งแต่เล็กๆ จึงมีความผูกพันเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง

“พ่อมาทำธุรกิจที่เกาะเต่า รับซื้อมะพร้าวไปขายชุมพร พ่อเลยอยากให้อยู่ช่วยคนเกาะเต่า”

โกดำ ย้อนอดีตให้ฟังด้วยว่า เขาถูกส่งไปเรียนเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไกลถึงจังหวัดยะลา วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งเดียวของภาคใต้ เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน

“จิตใจเราถูกฝึกมาให้รักษาชีวิต ไปเรียนหมอ ทำให้อยากช่วยคน ประมาณปี 2523 ผมมาเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยเกาะเต่าอยู่สองปี เพราะไม่มีใครมาอยู่ได้ เขาเรียกผมว่า หมอดำ”

แต่หมอดำคนนี้ เป็นคน “หัวก้าวหน้า” ที่หลายคนไม่เข้าใจ จึงมักบอกว่า-แกบ้า

“ผมพูดกับคนเกาะเต่ามาตั้งนานแล้ว เรื่องพลาสติกกับปลากระป๋อง เพราะมีสารกันบูด สารก่อมะเร็ง เขาก็หาว่าผมบ้า คนอื่นเขาไม่รู้ คนเกาะเต่าติดปลากระป๋อง ที่จริงปลาทะเลเต็มทะเล แต่ยำปลากระป๋องมันอร่อยจริง เพราะมีสารชูรส ทำให้อร่อยกว่าปลาสด”

อยู่มาพักใหญ่ พบรักกับแฟนสาวชาวต่างชาติ หมอดำจากเกาะกลางอ่าวไทยคนนี้ จึงลาออกจากสถานีอนามัยเกาะเต่าไปเรียนรู้โลกกว้างเกือบห้าปี

ร้านกายา เกาะเต่า

“ไปอยู่เยอรมนี เริ่มซึมซับวิชาความรู้เรื่องคัดแยกขยะ เพราะเยอรมนี โดนมลพิษมาเยอะ เลยเข้มงวดมาก สอนให้คนรู้เรื่องขยะ การแยกขยะเป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่งั้นเขาไม่เก็บให้ ต้องมีแสตมป์ด้วย ต้องเสียภาษีให้ทุกปี ถังขยะจะมีแยกไว้ มีกระดาษ โลหะ วันนี้เขาเก็บกระดาษ โลหะ เราก็เตรียมไว้ พวกชีวภาพ ออร์แกนิก จะเก็บทุกวัน กระดาษจะเก็บทุกวันพุธ โลหะเก็บทุกวันเสาร์ น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจะเก็บทุกวันอาทิตย์ ตั้งหน้าบ้านได้เลย ขวดใส่เขามีให้หมด ขวดทุกชนิดขายได้ คือ เราต้องเอาไปคืนถึงจะได้ตังค์คืน มีเครื่องหยอด ก็อกๆ ทุกซุปเปอร์จะต้องมีที่รับขวดพลาสติก ขวดแก้ว ขวดสี เราก็เลยเหมือนถูกปลูกฝังจนเป็นนิสัย รักสะอาด เพราะบ้านเมืองเขาสะอาดจริงๆ ขยะไม่มี สิงคโปร์ว่าสะอาด เยอรมนีสะอาดกว่า” โกดำ เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในต่างแดน

ก่อนคุยต่อ ออกรส “ปีที่แล้วได้ไปสหรัฐ ไปเห็นร้านซีโร่เวสต์แบบนี้ ก็คุยกับเมีย เขาชอบและคิดอยากให้ผมมีงานทำ มีรายได้เพราะว่าผมไม่ทำอะไรแล้ว พอเลิกดำน้ำ ผมไม่ทำอะไร ไม่มีรายได้ เขาก็อยากให้ผมมีรายได้บ้าง ก็เลยคิดว่าให้ผมทำร้านนี้”

เมื่อถามถึงผลตอบรับ โกดำ ยิ้มกว้าง ก่อนเผย มีลูกค้าเยอะ เป็นลูกค้าประจำ เป็นฝรั่งที่ทำงานอยู่บนเกาะเต่า ส่วนใหญ่ก็เป็นครูสอนดำน้ำ คนไทยยังไม่มี เพราะส่วนใหญ่ในร้านของเขาขายพวกผลไม้แห้ง ข้าวโอ๊ตออร์แกนิก ถั่ว วีแกน ไข่เป็ด ไข่ไก่ออร์แกนิก แต่ไม่ได้เน้นว่าทั้งหมดเป็นออร์แกนิก บางอย่างหาไม่ได้ก็ต้องเป็นแบบธรรมดา แต่ที่เน้นมาก คือ Zero Waste หรือ ไม่มีถุงพลาสติกออกจากร้าน

“ที่ร้านมีถุงผ้าบริการ มีขาย มีขวด เอาโหล เอากระปุกมาใส่ก็ได้ หรือมาซื้อของที่ร้านไป ใส่ให้ ล้างแล้วก็ค่อยเอามาคืน ขวดแก้วลูกละบาทสองบาทซื้อไป ล้างเสร็จก็เอามาใส่ใหม่ได้” โกดำ ภูมิใจนำเสนอเสน่ห์ของร้านเล็กๆ กลางเกาะ

“ทำร้านนี้ ผมก็ไม่ได้หวังกำไรมาก ที่ผมต้องการ คือ อยากสอนให้คนเกาะเต่าเห็นบ้างว่า ถ้าเราเปิดร้านอย่างนี้กันเยอะๆ มันจะดีมั้ย ถ้าร้านค้าธรรมดา ก็อย่าเอาพลาสติกมา ให้เอาถุงผ้ามา การบรรจุหีบห่อนี่ อย่าเอาพลาสติกมาห่อทุกสิ่งทุกอย่างได้มั้ย บางร้านขนาดลูกกีวียังห่อเลย เราบริโภคสารพิษทั้งนั้น” โกดำ บอกจริงจัง