ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในอดีต ชาวประมงในหมู่บ้านคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ แบบเน้นเอาปริมาณ ซึ่งอวนตาถี่ดังกล่าวนั้น นับเป็นเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างที่กวาดจับสัตว์น้ำแทบทุกชนิด โดยเฉพาะลูกปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปลาทู ปลาอินทรี จนทรัพยากรทางทะเลหน้าหมู่บ้านคั่นกระไดเสื่อมโทรมลงไปมาก
ส่งผลให้ ชาวประมงหมู่บ้านคั่นกระได ต้องออกเรือไปไกลมากขึ้น เพื่อจับปลาจากหมู่บ้านอื่นๆ จนทำให้ทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอไปทีละหมู่บ้าน กระทั่งได้รับสมญานามจากหมู่บ้านที่ไปเยือนว่า “กองปราบปลา” เนื่องจากหาปลาแบบล้างผลาญไปจนถึงเขตจังหวัดชุมพร
แต่แล้วเมื่อเจ้าของพื้นที่ยื่นคำขาดให้ออกไปจากเขตแดนของพวกเขาภายใน 24 ชั่วโมง ชาวประมงจากหมู่บ้านคั่นกระได จึงต้องล่าถอยกลับคืนถิ่นของตัวที่ท้องทะเลมีแต่ความเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนชาวประมงหลายรายต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพรับจ้างก่อสร้าง
กระทั่งปี 2551 ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชาวประมงบ้านคั่นกระได ได้รวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูความอุดสมสมบูรณ์ของทะเลหน้าบ้านให้กลับคืนมา เริ่มจากการเลิกใช้อวนตาถี่ สร้างซั้งกอเพื่อเป็นบ้านให้เกิดกับสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำธนาคารปู ห้ามเรือที่ใช้เครื่องมือทำประมงบางชนิดไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพยากรในเขตชายฝั่ง
การร่วมแรงกาย-ใจ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวคั่นกระไดเมื่อครั้งนั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก กุ้งหอยปูปลา กลับคืนมา ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทำงานอนุรักษ์ แต่ถึงกระนั้นชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระไดส่วนใหญ่ ยังคงมีความเป็นอยู่ไม่ดีนัก เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบซื้อขายสัตว์น้ำที่อยู่ภายใต้การผูกขาดของเจ้าหนี้แพปลา
ดังนั้นแม้อาหารทะเลจะมีราคาสูง แต่เงินที่ผู้บริโภคจ่ายกลับมาถึงชาวประมงเพียงน้อยนิดเท่านั้น และทั้งๆที่สัตว์น้ำจากเรือชาวประมงพื้นบ้านจะเป็นสินค้าที่สด สะอาด ปลอดสารเคมี แต่เมื่อเข้าสู่ระบบกระจายสินค้าสู่ตลาดโดยผ่านคนกลาง หลักประกันความสดและปลอดภัยของอาหารทะเลกลับไม่แน่นอน
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดสร้างช่องทางการขายสัตว์น้ำโดยชาวประมงพื้นบ้านเอง เพื่อตอบโจทย์ 2 ประการ คือ ชาวประมงขายสัตว์น้ำได้ในราคาที่เป็นธรรมขึ้น และผู้บริโภคได้รับอาหารทะเลที่สะอาดปลอดภัย
ซึ่งต่อมาราวปี 2557 แนวคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาเป็น “ร้านคนจับปลา” เริ่มต้นแห่งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาได้ขยายไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และกำลังจะขยายไปที่จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง ตามลำดับ ซึ่ง “ร้านคนจับปลา”ทุกแห่ง จะอยู่ภายใต้สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย มีการควบคุมคุณภาพด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน หรือ “Blue Brand Standard”เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภค
คุณโกสน จิตจำลอง อายุ 56 ปี ชาวประมงพื้นบ้านแห่งหมู่บ้านคั่นกระได ให้ข้อมูล “เส้นทางเศรษฐี ออนไลน์” ว่า เมื่อก่อนจับปลามาก็ขายให้เถ้าแก่ แต่เพราะติดหนี้เขาอยู่ พอเอาปลาขายไปให้แต่ละครั้ง ไม่เคยต่อรองราคาอะไรได้เลย ครั้นมาเป็นสมาชิกเครือข่าย “ร้านคนจับปลา” ทำให้ขายปลา “ได้ราคา”มากขึ้นมาทุกชนิดเลยก็ว่าได้
“สมัยก่อนที่เอาปลาไปขายให้แม่ค้าในตลาด เขากลัวขายไม่หมด ก็จะเอาฟอร์มาลินมาใส่ของทะเลเพื่อยืดเวลาจากสองวันเป็นสี่วัน เพราะถ้าปลายังสดอยู่เขาขายได้ เรามองว่า ปลาที่หามาสดๆ ทำไมต้องใส่ฟอร์มาลิน แล้วคนกินจะเป็นแบบไหน เลยพยายามหาทาง ทำยังไงให้ปลาที่เราหามานั้น สามารถส่งไปถึงคนกินโดยไม่มีสารปนเปื้อน เพราะรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมกับพวกเขา”คุณโกสน ว่ามาอย่างนั้น
ปลาโอกาแล ที่ขายได้ราคาดีขึ้น
สำหรับผู้สนใจอุดหนุนสัตว์น้ำจากเครือข่าย “ร้านคนจับปลา” นั้น มีหลายช่องทางให้เลือกซื้อ อาทิ เลมอนฟาร์มทุกสาขา, เครือข่ายตลาดสีเขียว ชั้น 3 อัมรินทร์พลาซ่า, ตลาดจริงใจ JJ market จังหวัดเชียงใหม่ หรือ เพจ ร้านคนจับปลา ประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ 098-921-1284 และ เพจ ร้านคนจับปลา นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 086-952-5258