เนม –แหนม วัฒนธรรมชาวอุษาคเนย์

“แหนม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บอกความหมายว่า “แหนม น. อาหารอย่างหนึ่ง ทำด้วยหมู หมักให้เปรี้ยว” เป็นอาหารหมักดองที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมานับแต่อดีต เป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์เพื่อที่จะทำให้เก็บได้นานขึ้น และยังได้อาหารชนิดใหม่ที่มีรสชาติใหม่

คนไทยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางทำแหนมกันแพร่หลาย โดยเรียกชื่อแตกต่างกันไปซึ่งไม่ว่าจะเรียกอย่างไรล้วนมีความหมายถึงรสเปรี้ยวที่แฝงอยู่ ภาคเหนือจะเรียกว่า “จิ๊นส้ม” หมายถึง เนื้อสัตว์ที่มีรสส้ม คือ รสเปรี้ยว มีทั้งจิ๊นส้มหมู จิ๊นส้มวัว และจิ๊นส้มควาย

ชาวอีสานก็กินแหนมกันมากและมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งแหนมหมูอย่างปกติเรียกว่า “หมูส้ม” หรือ “ส้มหมู” ไส้กรอกอีสานที่ใช้กรรมวิธีเดียวกันเพียงแต่ยัดลงไปในไส้หมู แถวเมืองพล จังหวัดขอนแก่น มี “หม่ำ” ที่ขึ้นชื่อ มีทั้งหม่ำหมู และหม่ำวัว โดยจะผสมตับลงไปด้วย หม่ำจะนิยมใส่ข้าวคั่วต่างจากการทำแหนมที่ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง แล้วยัดลงไปในไส้หมู ไส้วัว หรือถุงน้ำดี แล้วแขวนผึ่งลมให้แห้งจนเกิดการหมักข้างในและมีรสเปรี้ยว นำไปทอดหรือย่างไฟ

ส่วนในภาคกลางในจังหวัดที่มีชาวไทยพวนอยู่มาก เช่น ที่จังหวัดลพบุรี ก็จะมี “หมูส้ม” เช่นกัน แต่ที่โด่งดังแซงหน้าหมู คือ “ส้มฟัก” มักจะทำด้วยปลายี่สก และปลากราย เรียกว่า ปลาส้มฟัก ทำด้วยปลาสับจนละเอียด ผสมกับข้าวสุกและเกลือ หมักจนมีรสเปรี้ยว

วัฒนธรรมแหนมจึงเรียกได้ว่าแพร่หลายในประเทศไทย ลาว รวมถึงเวียดนาม ที่อาจจะเป็นต้นตอของอาหารประเภทนี้ ชาวเวียดนามเรียกอาหารหมักดองจากเนื้อสัตว์แบบนี้ว่า “เนมจัว” (Nem Chua) แปลว่าแหนมเปรี้ยว หรือเรียกสั้นๆ ว่า เนม (Nem) คำว่าเนมนี้ยังนำไปประกอบกับคำอื่น เช่น เนมเนื้อง (Nem nướng) ที่ไทยเรียก แหนมเนือง เนมร้าน (Nem rán) ภาษาเหนือ หรือจ๋าหย่อ (Chả giò) ภาษาใต้ ที่ไทยเรียกเปาะเปี๊ยะทอด ส่วนเปาะเปี๊ยะสดเวียดนาม เรียกว่า เนมกัวน (Nem cuốn) ภาษาเหนือ หรือ ก๋อยก้วน (Goi cuon) ภาษาใต้

เราจึงอาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “แหนม” นั้นมาจากคำว่า “เนม” ในภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นชาติที่กินแหนมกันแพร่หลาย มีทั้งแหนมหมูและแหนมวัว อันมีกรรมวิธีไม่ต่างจากของไทยเลยสักนิด มีส่วนประกอบหลักๆ คือ เนื้อหมูหรือเนื้อวัวสับ หนังหมู กระเทียม ข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาล และพริกไทย ใส่พริกขี้หนูสดทั้งเม็ดลงไป บางทีก็มีกระเทียมสดฝานใส่ลงไปด้วย แล้วปิดด้วยใบมะยมก่อนที่จะห่อด้วยใบตองแล้วมัดให้แน่นทิ้งไว้ให้เปรี้ยว สามารถกินสดๆ ได้เลยหรือนำไปทอด

อันว่าวัฒนธรรมอาหารนั้น ถ่ายเทลื่นไหลตามผู้คนที่โยกย้ายถิ่น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน