ผู้เขียน | พารนี |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังเข้าร่วมการเปิดตัวเป็นทางการของ “สำนักงานผู้แทน” EXIM BANK (เอ็กซิม แบงก์) หรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และพิธีลงนามใน MOU ระหว่าง EXIM BANK กับ ธนาคารของรัฐบาลสหภาพเมียนมา หรือ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB)เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางผู้บริหาร EXIM BANK นำโดย คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการฯ ได้พาคณะสื่อมวลชนหลายแขนงจำนวนกว่าห้าสิบชีวิต บินลัดฟ้าด้วยสายการบินภายในใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ จากเมืองย่างกุ้งไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อศึกษาและเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆของเมียนมา
จุดหมายแรกที่คณะฯของเราเดินทางไป ได้แก่ เมืองอังวะ เมืองหลวงเก่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมัณฑะเลย์เท่าไหร่นัก นั่งรถบัสประมาณสี่สิบนาที ก็ถึงท่าเรือข้ามฟาก ซึ่งยังถูกใช้งานเป็นประจำสำหรับนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น
เมื่อรถบัสแล่นเข้าที่จอด บรรยากาศบริเวณท่าเรือมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที บรรดาพ่อค้าแม่ขายของที่ระลึก สังเกตเห็นส่วนใหญ่เป็นเด็กสาววัยรุ่น ปะแป้ง “ทานาคา”หน้าแฉล้ม มายืนออกันหลายสิบชีวิตที่ แขนข้างหนึ่งของพวกเธอจะคล้องตะกร้าพลาสติกใบเล็กๆ ภายในบรรจุของที่ระลึก อย่าง สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ที่พวกเธอบอกทำมาจากหยก กระดิ่งทองเหลือง หมวก พัด ฯลฯ
เมื่อคณะทยอยลงจากรถบัส พวกเธอจะเข้าประกบแบบค่อนข้างประชิดตัว ร้องขายของเป็นภาษาเมียนมาบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาไทยแบบกระท่อนกระแท่นบ้าง แต่ทัวร์ลิสต์ไทยหลายคน ยังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะเพิ่งเดินทางมาถึงจึงอยากชมวิวรอบๆก่อน
ของที่ระะลึก วางขายแถวท่าเรือข้ามฟากไปเมืองอังวะ
นั่งเรือข้ามฟากลำละสิบกว่าคน ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที ก็ถึงท่าเรือเมืองอังวะ ขณะเรือกำลังเทียบท่า มองเห็นพ่อค้าแม่ขายของมี่ระลึกชุดใหม่อีกหลายสิบชีวิต ยืนรอรับอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยความที่ต้องรีบทยอยขึ้นรถม้า เพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญให้ครบตามโปรแกรมที่วางไว้ ทำให้เหล่า “นักขาย”ส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุความตั้งใจ พูดง่ายๆคือยังไม่มีใครซื้อของจากพวกเธอนั่นเอง
แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญแต่อย่างใด เพราะคล้อยหลังที่คณะนักท่องเที่ยวจากเมืองไทย พากันออกเดินทางด้วยรถม้าแล้ว สาวน้อยนักขายทั้งหลายต่างพากันกรูไปที่จักรยานของตัวเอง ก่อนปั่นตามรถม้าของนักท่องเที่ยวคันใดคันหนึ่งที่หมายตาไว้
หนึ่งในบรรดาทีม “นักขาย” เป็นสาวน้อยในชุดเดรสลายดอกสีแดง รีบปั่นตามมาเกาะท้ายรถม้าของเรา พร้อมส่งยิ้มหวานให้ครู่หนึ่ง ก่อนชวนคุยแข่งกับเสียงเกือกม้ากระทบพื้น
“คุณรู้มั๊ยฉันพูดได้หลายภาษานะ” สาวน้อยนักขาย-นักปั่น คนเดิม เริ่มบทสนทนาด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่งๆ
“ฉันพูดภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ได้ และภาษาเมียนมา ภาษาหลักของเธอ ฉันไม่ได้เรียนในโรงเรียนนะ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์นั้นแพงมาก ฉันไปได้แค่โรงเรียนประถมฯแค่นั้น ฉันไปโรงเรียนเฉพาะวันอาทิตย์กับวันจันทร์ วันนี้เป็นวันเสาร์ ฉันไม่ได้ไปโรงเรียน เลยมาขายของนี่แหละ”
เมื่อถามกลับไปด้วยภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่น แต่พอจับใจความได้ว่า แล้วทำไมเธอถึงพูดได้หลายภาษา ได้คำตอบว่า
“ฉันพูดได้หลายภาษา เพราะที่เมืองอังวะนี้ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมาก มีหลายชาติหลายภาษา ฉันเลยเรียนด้วยการฟังพวกเขาพูดคุยกันนั่นแหละ”เธอคุยไปปั่นไป ไม่มีท่าว่าจะเหนื่อย
“พวกคุณอายุกันเท่าไหร่เหรอ” เธอชวนคุยต่อ
รู้สึกเขินที่ต้องบอกตัวเลขของตัวเอง เลยถามกลับไป…แล้วเธอหล่ะอายุเท่าไหร่
“ฉันอายุ 13 ปี แล้วพวกคุณหล่ะ”
หลังทราบคำตอบ สาวน้อยชุดแดง ถึงกับอุทาน
“โอ้ มายบุดดา ฉันไม่อยากเชื่อเลย ฉันคิดว่าคุณน่าจะประมาณสามสิบกันนะ”
ประโยคทองจากสาวน้อยแปลกหน้า เล่นเอาคนฟังยิ้มกริ่ม แม้พอเดาได้ว่าเธอพูดเอาใจไปอย่างนั้นเอง
“ฉันชื่อ เคทถะ มีพี่น้องหกคน ฉันทำงานช่วงวันหยุด ฉันได้เปอร์เซ็นต์เล็กน้อยจากของที่ขาย คุณจะซื้ออะไรสักอย่างมั๊ย ฉันมีเครื่องประดับทำจากหยก หมวก พัด กระดิ่ง ของพวกนี้ทำในเมียนมา ไม่ได้มาจากจีนแน่นอน”เธอเริ่ม เปิดการขายแบบน่าฟัง
แต่เมื่อยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ เธอเลยตั้งหน้าตั้งตาปั่นพาหนะคู่ใจตามรถม้าของเราไปเรื่อยๆ พร้อมชี้ชวนให้ชมทิวทัศน์ สถานที่ สองข้างทาง มีทั้งกำแพงเมืองเก่า เจดีย์ วัด โรงเรียน
ใช้เวลาบนรถม้าพักใหญ่จึงถึงวัดบากะยาจาวน์ วัดเก่าแก่ทำจากไม้สักทองแกะสลักทั้งหลัง เราบอกจะเข้าไปไหว้พระ ชมวัด ค่อยตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดจากเธอ
“จริงนะๆ ฉันจะรอคุณอยู่แถวนี้ ฉันจำคุณได้ ถ้าคุณซื้อของจากฉัน ฉันคงมีความสุข”
เมื่อกลับลงมาจากวัดไม้สักทอง คณะต้องขึ้นรถม้าไปต่อเพื่อชมกำแพงเมืองเก่า
“ตกลงจะซื้ออะไรมั๊ย ฉันมีของมีหลายอย่างนะ” เธอยังคงมุ่งมั่นในการขายแบบไม่ลดละ
ใช้เวลาต่อรองราคากันอยู่พักหนึ่ง จึงตกลงซื้อขายกันได้ที่กระดิ่งทองเหลืองเล็กๆสองอัน ในราคาหนึ่งหมื่นจ๊าด คิดเป็นเงินไทยได้ประมาณสามร้อยกว่าบาท
ดู ยู แฮปปี้? คือ ประโยคสุดท้าย ที่ถามเธอ…ก่อนจากกัน
“เยส -ยูบาย ไอ แฮปปี้”
สุดยอดนักขายแห่งเมืองอังวะ ตอบเสียงดังแทบตะโกน แววตาเป็นประกาย พร้อมฉีกยิ้มกว้างเห็นฟันขาว
ก่อนก้มหน้าก้มตานับแบงก์ที่รับไปด้วยอาการ “แฮปปี้จริง-แฮปปี้จัง”