ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง

ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง

“เราไม่ได้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร แต่เราเป็นเกษตรกรตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว” คำพูดของ เจ๊นิด-พุธชาติ ลาภผล อายุ 50 ปีต้นๆ เจ้าของร้านทุเรียนน้องนิด ระยองฮิ! 

ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง
เจ๊นิด-พุธชาติ ลาภผล เจ้าของร้านทุเรียนน้องนิด ระยองฮิ!

หากพูดถึงร้านทุเรียนเจ้าดังที่เป็นกระแสอยู่ตลอดๆ ต้องนึกถึงร้านเจ๊นิด ที่เปิดขายในองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ ตลาด อ.ต.ก. ที่เรารู้จักกันดี ทุกคนรู้หรือไม่ว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองร้านเจ๊นิดมีราคาที่สูงถึงกิโลกรัมละ 12,000 บาท เลยทีเดียว 

ต้องบอกว่าขณะที่นั่งคุยกับเธอ ได้ทั้งแนวคิด วิธีการจัดการร้านมากมาย และในระหว่างที่นั่งฟังเจ๊นิดเล่า ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อกันอยู่ตลอดๆ บ้างก็ราคา 20,000 บาท บ้างก็ 10,000 บาทต้นๆ 

เรื่องราวของเจ๊นิด กับการเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรตั้งแต่วัย 13 ปี

ย้อนไปเมื่อเธอยังเด็ก เจ๊นิดก็เริ่มทำสวนทุเรียนมา อยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดระยอง เพราะเป็นการทำจากรุ่นสู่รุ่น แต่การทำสวนทุเรียนในรุ่นปู่รุ่นย่า ผลผลิต หรือรายได้ไม่ได้ดีมากเท่าไหร่นัก ทั้งกำหนดราคาเองไม่ได้ และโดนกดราคาอยู่ตลอด ทำแล้วไม่คุ้มราคาเหมือนการทำนาในสมัยนี้

“พี่นิดเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เข้า เราก็พยายามจะพลิกวิกฤต ปรับเปลี่ยนใหม่ในรุ่นของเรา” เจ๊นิด กล่าว

เมื่อเธออายุ 13 ปี ก็ได้มาช่วยน้าที่ตลาดแห่งนี้ ด้วยที่เธอคิดว่า เกษตรกรน่าจะกำหนดราคาได้เอง เลยทำให้ตัดสินใจมาที่ตลาด อ.ต.ก. แห่งนี้ โดยทำเรื่องกับเกษตรจังหวัดมาพึ่งใบบุญ อ.ต.ก. เพราะในสมัยก่อนที่นี่คือที่พึ่งของเกษตรกร

“เราอยากจะมาลองสักตั้งหนึ่ง เพราะว่ามีพ่อค้าคนกลางมาตัดทุเรียนเราทุกปี แต่ปีที่วิกฤตจริงๆ คือเขาตัดแต่หัวกระเด็น เขาเอาแต่ลูกสวยๆ ไป เขาเอาแต่ลูกหน้างามไป แล้วเขาก็จะเหลือลูกที่ไม่สวยทิ้งไว้ให้เรา พอเขาได้กำไรเขาก็ทิ้ง ไม่ทำตามสัญญา” เจ๊นิด เล่า

พอได้เข้ามาที่ตลาดแห่งนี้ เธอก็ยังคงมีความอาลัยอาวรณ์บ้านเกิดอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยจำต้องสู้ เลยต้องอดทนต่อไป 

ไม่พอเท่านั้น นอกจากทุเรียนที่ได้นำมาขายแล้ว เจ๊นิดยังได้นำผักที่ตลาดตาย (ขายไม่ได้ราคาในพื้นที่) มาขายในตลาดแห่งนี้ด้วย เธอบอกว่า พริกสด มะเขือพวง ผักต่างๆ มาขาย จากขายที่บ้านได้กิโลกรัมละ 50 บาท แต่พอมาขายที่นี่ได้กิโลกรัมละ 500 บาท เธอตกใจมาก เพราะราคาแตกต่างกันหลายเท่า

“เราเสียเวลามาแล้ว เราเอาทุเรียนมา เราก็เอาผักมาด้วย มาลองขายดู ของไม่เท่าไหร่ได้เงินมากมาย เราดีใจสาลูก แล้วเราก็ทำเหมือนเดิม” เจ๊นิด เล่า

เมื่อเธอได้มาเยือนที่ อ.ต.ก. ทำให้เธอได้วิธีคิดหลากหลาย โดยเจ๊นิด บอกว่า

“ดูความต้องการของลูกค้า ว่าต้องการแบบไหน ดูจริตของลูกค้า ดูกลุ่มลูกค้าของเรา เพราะสมัยก่อนตลาด อ.ต.ก. มันเป็นตลาดของคนชั้นสูง เพราะฉะนั้น ต้องเน้นของดี มีคุณภาพ และปลอดสารพิษ”    

จนมาอายุ 16 ปี เธอได้เริ่มเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว และหาช่องทางเติบโตของธุรกิจให้ได้มากที่สุด

ทุเรียนราคาสูง แต่คนนิยมซื้อ

ด้วยราคาทุเรียนในร้านเจ๊นิด มีราคาค่อนข้างสูง อย่างทุเรียนก้านยาว มีราคาถึงกิโลกรัมละ 20,000 บาท ทางด้านหมองทองมีราคาสูงสุดที่กิโลกรัมละ 12,000 บาท และเป็นพันธุ์ที่ลูกค้านิยมซื้อมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นราคาที่แพง แต่ลูกค้าก็เต็มใจจ่ายทุกราย

ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง

เจ๊นิด บอกว่า ทุเรียนของเธอมีรสชาติที่อร่อย กินแล้วไม่ร้อนคอ เธอเข้าใจว่าลูกค้าเดี๋ยวนี้เงินหายาก กว่าจะหาเงินได้เพื่อมาจับจ่ายใช้สอย เขาจะต้องละเอียดมากขึ้น และดูว่าคุ้มกับที่จะต้องจ่ายหรือไม่ ทางด้านเจ๊นิดก็พยายามที่จะทำให้ทุเรียนของเธอเหมาะสมและคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าต้องจ่าย   

“เราก็พยายามที่จะให้สมศักดิ์ศรี ให้สมกับเงินที่เขาจ่าย เขาเสียให้เรา 100 บาท เราก็อยากให้เขากลับไป 200 บาท เพื่อให้มันสมกับที่เขาตั้งใจ” เจ๊นิด กล่าว

เจ๊นิดกำหนดราคาเองได้

จากที่เคยโดนกดราคามาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ปัจจุบัน เจ๊นิดทำตามความฝันได้สำเร็จ คือสามารถกำหนดราคาทุเรียนได้เอง โดยเธอให้เหตุผลไว้ว่า

“พี่นิดสามารถกำหนดราคาเองได้ เพราะว่าเรารู้ เราผลิตเอง ขายเอง เราจะรู้ว่าของเรามีคุณภาพระดับไหน ควรที่จะวางอยู่ตรงไหน เราจะจัดระดับของเราเองเลย เราเห็นทุกบริษัทที่เขาทำมา เราก็มองดูแล้วว่า เราก็ทำได้” 

แต่กว่าจะสร้างคุณภาพเพื่อกำหนดราคาเองได้ ก็มีปัจจัยหลายๆ อย่าง และหลักๆ เลยคือ ธรรมชาติ เพราะผลไม้เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยธรรมชาติ จึงเป็นงานที่ยาก และท้าทาย เพราะเธอตั้งเป้าเอาไว้ว่า ต้องมีเกษตรกรสักคนหนึ่งที่ได้ดีในสัมมาอาชีพนี้ 

“เราต้องร่ำรวยกับสิ่งที่เรามี เราต้องหาผลประโยชน์จากสิ่งที่เรามี แล้วเอามาทำให้เกิดผล สร้างมูลค่าให้มันได้” เจ๊นิด กล่าว     

อนาคตเราจะได้เห็นทุเรียนกิโลละเป็นแสนหรือไม่ พอถามคำถามนี้ไป เจ๊นิด ตอบมาทันควันว่า “ก็ไม่แน่นะ”

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามความจริง ไม่ใช่จะตะบี้ตะบันขายแพง เพราะทุเรียนแก่และคุณภาพดีๆ มันหายาก เพราะผลไม้ที่มันกินแล้วมันสุด กินแล้วมันจบนั้นหายาก เพราะว่านักกินเขาจะรู้ และสามารถดูได้ว่าอันนี้ประมาณไหน   

ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง

อากาศร้อน…กระทบหนัก

สภาพอากาศต้องบอกว่ามีผลอย่างมากในการทำการเกษตร เพราะผลผลิตจะไม่ได้ตามยอดที่ตั้งเอาไว้ อย่างปีนี้อากาศร้อน ทุเรียนจากปกติออก 100% แต่ถ้าเจออากาศร้อน ออกมาแค่ 20% เท่านั้น ทำให้ผลผลิตลดลงไปถึง 80% เลยทีเดียว

“มันรับมืออะไรไม่ได้ นอกจากเม็ดเงินหายไป แต่ก็มีโอกาสแก้ตัวทุกปี” เจ๊นิด กล่าว 

เธอเปรียบเทียบว่า อาชีพเกษตรกรก็มีโอกาสแก้ตัว เหมือนเล่นหวย เล่นหวยมีโอกาสแก้ตัวเดือนละ 2 ครั้ง แต่เกษตรกรมีโอกาสแก้ตัวปีละครั้ง ถ้าในปีนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไข้ได้ทันที มันจะพลาดเลย เพราะฉะนั้น จะต้องไปเรียนรู้ว่า การทำงานของเรามันช้าไปไหม ผลผลิตถึงเป็นแบบนี้ เราต้องไปหาคำตอบแล้วไปปรับใหม่ 

ทุเรียนเวียดนามมา กระทบหรือไม่      

“มันไม่สะเทือนเราหรอกลูก เพราะว่าของเรามันเป็นระบบภายใน และภายนอกพอประมาณ คนในประเทศส่วนมากจะกินของเรา” เจ๊นิด กล่าว

เพราะฉะนั้น ทุเรียนเวียดนามข้ามาก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมายกับทุเรียนไทย แต่พ่อค้าแม่ค้าจะต้องมีความซื่อสัตย์และซื่อตรงกับอาชีพของตัวเอง จะทำให้ยืนได้นาน

ลูกค้าส่วนมากก็จะเป็นคนไทย แต่ต่างประเทศก็มีเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศจีน บางคนก็พูดไทยไม่ได้ก็จะเปิดโทรศัพท์ที่ดูในคลิปรายการต่างๆ แล้วสื่อสารว่าอยากได้แบบนี้ๆ พอเขาซื้อก็จะถ่ายลงโซเชียล ก็เป็นการต่อยอดให้กับคนอื่นๆ ได้รู้จัก

ทุเรียนเจ๊นิด คือ แบรนด์ของฝาก

หากถามว่า โดยส่วนมากแล้วลูกค้านิยมซื้อไปกินเองหรือซื้อไปฝาก เจ๊นิด ตอบมาทันทีว่า จริงๆ แล้ว หลายคนมองว่าแบรนด์เจ๊นิด เป็นแบรนด์ของฝาก หรือเรียกง่ายๆ ว่าเหมือนของแบรนด์เนม เพราะซื้อไปฝากผู้ใหญ่ หรือใครก็ตาม ผู้รับก็จะประทับใจมาก และทำให้คนซื้อไปฝากดูมีหน้ามีตา 

“ส่วนมากลูกค้าจริงๆ แล้วเนี่ยจะซื้อไปฝาก กินเองด้วย ฝากด้วย เพราะถ้าเขาได้แบรนด์ของพี่นิดไปเขาจะดีใจมาก ความรู้สึกเขาแบบว่า เขาได้กินของพี่นิดแล้ว” เจ๊นิด กล่าว  

ในมุมของเจ๊นิด เธอมองว่า รัฐบาลก็มีส่วนช่วยในการผลักดันอยู่ตลอดๆ แต่จุดที่สำคัญที่สุด คือตัวผู้ผลิตเอง ว่าจะมีความซื่อสัตย์มากแค่ไหน ทำตามความต้องการของตลาดเขาหรือไม่ สุดท้ายเจ๊นิดอยากจะฝากให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตต่างๆ ให้เป็นข้อคิดเตือนใจว่า

“ถึงเขาจะผลักดันให้ตาย แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพ เราก็ไปไม่รอดหรอก”

ทุเรียนโลเป็นหมื่น! คุยกับเจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียนเจ้าดังใน อ.ต.ก. ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาสูง

หากใครอยากไปลิ้มรสชาติทุเรียนเจ๊นิด มาได้ที่ ตลาด อ.ต.ก. 

หรือดูรายละเอียดได้ที่ Nongnid Durian