คนไทย ผลิตขยะอาหาร 146 กก./คน/ปี ชี้ ต้องป้องกันต้นทางก่อนล้นเมือง

คนไทย ผลิตขยะอาหาร 146 กก./คน/ปี ชี้ ต้องป้องกันต้นทางก่อนล้นเมือง

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เชื้อเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาโครงการลดขยะอาหารในศูนย์อาหาร มีศูนย์อาหารทั้งของรัฐ เอกชน ศูนย์การค้านำร่องเข้ามาร่วมประมาณ 15 แห่ง เพื่อที่ผลสุดท้ายจะสรุปผลได้เป็นตัวอย่างของศูนย์อาหารในการลดขยะอาหารต่อไป

ขยะอาหารกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะเขาสำรวจมาแล้วว่าในบรรดาขยะมูลฝอยทั้งหมดในประเทศไทยเป็นขยะอาหารไปแล้วถึงร้อยละ 39 หรือคนไทย 1 คนผลิตขยะอาหารได้ 146 กิโลกรัมต่อปี แหล่งกำเนิดขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด รองมาเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สำนักงาน คอนโด อพาร์ตเมนต์ โรงแรม รีสอร์ต ครัวเรือน และสถานศึกษา

ผิดกับที่อเมริกาของเขาขยะอาหารมากกว่าร้อยละ 80 มาจากครัวเรือน แสดงว่าบ้านเราคนชอบกินข้าวนอกบ้านมากกว่าในบ้าน สาเหตุของการเกิดขยะอาหารจากบ้านเรือนเพราะซื้อมาเกินจำเป็น ซื้อมาเก็บ เหลือ กินไม่ทันก็ทิ้ง คนอเมริกันกับคนไทยไม่แตกต่างกัน

ส่วนขยะอาหารจากร้านอาหาร ศูนย์อาหารมีที่มาจากการจัดการที่ไม่ดี แยกเป็นขยะอาหารที่เกิดขึ้นในครัว กับบนโต๊ะอาหาร

ในครัวเริ่มมีขยะอาหารตั้งแต่การตัดแต่งผัก เนื้อสัตว์ การจัดเก็บที่ไม่ดีทำให้วัตถุดิบสูญเสีย เน่า การจัดซื้อวัตถุดิบเกินปริมาณที่ต้องการ มาถึงการประกอบอาหารที่อาจจะประกอบอาหารมากเกินความต้องการเช่นกัน เหลือเก็บต้องทิ้ง การเกิดขยะอาหารระหว่างการทำอาหาร เช่น กระดูกโครงไก่ต้มน้ำซุป กระดูกหมู เศษอาหารจากการประกอบอาหาร ทำอาหารผิดพลาด การขนส่งที่ไม่ดีอุณหภูมิจัดเก็บไม่ได้ อาหารเสีย

มาถึงโต๊ะอาหาร ลูกค้ากินอาหารเหลือ เศษอาหารติดจาน หรือกินไม่หมด ปริมาณมากเกินไป หรือไม่อร่อย หน้าตาไม่น่ากิน เศษอาหารประเภทกระดูก ก้าง ที่คนกินไม่ได้

บรรดาศูนย์อาหารที่เข้าร่วม 15 แห่ง ได้ไปจัดทำสถิติเบื้องต้นสำรวจคร่าวๆ มาพบว่า ถ้าในจำนวนขยะอาหาร 100% เป็นขยะอาหารจากกระบวนการในครัวประมาณ 30% อีก 70% เป็นขยะจากโต๊ะอาหาร แปลว่าลูกค้ากินเหลือทิ้งมากกว่าคนทำ

ขยะอาหารที่ทิ้งจากโต๊ะอาหารเป็นอะไรบ้าง น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ผัก เศษข้าว เศษกระดูก แถมด้วยไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ทิชชู ซึ่ง 3 อย่างหลังนี้ไม่นับเป็นขยะอาหาร เป็นขยะมูลฝอย แต่มันมารวมอยู่ในอาหาร เดือดร้อนบรรดาแม่บ้านศูนย์อาหารต้องคอยคีบหยิบแยกออกจากเศษอาหาร

เพราะตอนนี้วิธีกำจัดเศษอาหารของบรรดาศูนย์อาหารคือแยกเศษอาหารเอาไปขายเป็นข้าวหมู สิ่งที่หมูกินไม่ได้คือเศษกระดูก ก้างปลา และขยะมูลฝอย ที่จริงผู้ที่รับซื้อเศษอาหารเขาเอาเศษอาหารไปเข้ากระบวนการต้ม ฆ่าเชื้อ ไปเลี้ยงสัตว์อื่นด้วย แต่เรียกรวมๆ ว่า ข้าวหมู

จะไม่ให้ลูกค้าทิ้งเศษขยะอื่นๆ ลงไปในขยะอาหารได้ก็ต้องมีการรณรงค์ เช่น ติดป้ายให้แยกขยะอาหารกับขยะอื่นๆ อย่าทิ้งรวมกัน มีภาชนะที่เหมาะสมไว้ให้เขาทิ้งขยะมูลฝอยแยกต่างหากจากขยะอาหาร

ปลายทางของการกำจัดขยะอาหารให้เกิดประโยชน์และไม่ทำให้เกิดแก๊สโลกร้อนนอกจากการเอาไปเป็นอาหารหมู ยังมีนำไปทำปุ๋ย ถ้ามีที่ดินก็ใช้วิธีผสมเศษอาหารกับดินใบไม้ ราดน้ำหมักชีวภาพ คอยกลับดินทุก 7 วัน แต่ต้องมีการกลบเศษอาหารที่ดี อย่าให้แมลงวันตอม น้ำบูดเน่าไหลนอง ควรจะเป็นที่ห่างจากตัวร้าน หรือใช้ถังผสมเศษอาหารกับจุลินทรีย์ ได้ปุ๋ยเช่นกัน

แต่ต้องมีหลายถัง ยุคดิจิทัลมีเครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารได้ภายใน 1 คืน แต่ราคาแพงเป็นแสน นอกจากนี้ เศษอาหารยังเอามาทำเชื้อเพลิงแต่ต้องผ่านกระบวนการและเครื่องมือยุ่งยากมากมาย

จุดสุดท้ายของขยะอาหารที่ไม่ควรจะเป็นคือ การทิ้งให้หน่วยงานท้องถิ่นเอาไปฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดทั้งก๊าซเรือนกระจก การเกิดมลพิษในน้ำ ในดิน มลพิษทางกลิ่น ทางการมองเห็นด้วยคือไม่งาม จุดสุดท้ายนี้กลายเป็นวิธีกำจัดขยะที่เมืองไทยแสนสบายนำมาเป็นวิธีหลักในการกำจัดขยะ และขยะอาหารก็ปนเปไปกับขยะมูลฝอย ดีหน่อยคือเอาเข้าเตาเผาเกิดมลพิษน้อยหน่อย

เรื่องของขยะอาหาร เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันยาว และต้องทำกระบวนการป้องกันการเกิดขยะอาหารที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ต้นทางคือ การจัดซื้อ มาถึงการตัดแต่ง การจัดเก็บ การขนส่ง การประกอบอาหาร การบริการ จนถึงในจานบนโต๊ะอาหาร ทำยังไงให้เหลือขยะอาหารน้อยที่สุด

และสุดท้าย การนำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากครับ แต่ถ้าเราไม่ทำวันนี้ อนาคตเราต้องอยู่กับกองขยะที่เราทำขึ้นมาแน่นอน

ตอนนี้หลายคนก็ต้องจำใจอยู่กับกองขยะหน้าบ้านแล้วล่ะครับ