เผยแพร่ |
---|
โทฟุซัง สร้างความต่างอย่างไร หนีตลาดการแข่งขันสูง ดันยอดขาย 850 ล้านบาท ในปี 2566
คุณสุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โทฟุซัง จำกัด ได้ขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อ “ถอดวิธีคิด เส้นทาง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของโทฟุซังและนันยาง” พร้อมกับ ดร.จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด พร้อมเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจในงานสัมมนา “Thailand 2024 : beyond RED OCEAN” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
โดยคุณสุรนามกล่าวถึงคู่แข่งของตลาดน้ำเต้าหู้ ที่มีการแข่งขันสูงมากมาย แต่โทฟุซังสามารถแข่งขันและหาบลูโอเชียน ของตัวเองจนเจอ และได้เผยเคล็ดลับในการหาบลูโอเชียน ซึ่งจะต้องรู้ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สร้างความแตกต่างจากตลาด โดยจะต้องเป็นสิ่งที่เราถนัดและสามารถทำได้
หากพูดถึง เรดโอเชียน หมายถึง มหาสมุทรอันแดงก่ำ นั่นคือ การแข่งขันที่ดุเดือด มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในทุกรูปแบบ การแข่งขันในเรดโอเชียน ผู้ที่ประสบความพ่ายแพ้มักจะเป็นรายเล็กๆ และในส่วนของ บลูโอเชียน หมายถึง การสร้างกลยุทธ์ที่ไม่ตามใคร โดยจะเน้นการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา หรือพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ให้มีมูลค่ามากขึ้น
อย่างน้ำเต้าหู้ โทฟุซัง อยู่คู่กับคนไทยมาถึงปีที่ 12 ซึ่งเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่นำมาต่อยอดและพัฒนาจนกลายเป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้ที่คนไทยรู้จักกัน จากยอดขายที่ได้เพียง 3 ล้านบาทในปีแรก แต่ปัจจุบันนี้ มียอดขายที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าในปี 2566 นี้ รายได้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 850 ล้านบาท
คุณสุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โทฟุซัง จำกัด ได้เผยแนวคิดที่สร้างยอดขายที่โตขึ้น โดยสลัดจากความเป็นเรดโอเชียน แต่ทำอย่างไรให้เป็น บลูโอเชียน ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่า
การหาบลูโอเชียนใหม่ๆ คือตลาดที่เขาเรียกมันว่า Unserved Need Markets ซึ่งทางโทฟุซังมี S-Curve อยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ที่จะเป็นการสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับตนเอง และ 3 ข้อของโทฟุซัง มีดังนี้
1. หาตลาดของตัวเอง
การที่เราจะหาสิ่งที่เป็นจุดแข็งของตัวเองเจอ เราจะต้องสร้างคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน โดยมองดูถึงตลาดคู่แข่งของเรา หาความแตกต่างที่คู่แข่งยังไม่มี และที่โทฟุซังเจอว่าสิ่งนี้ยังไม่มีในตลาดเลย คือ การพาสเจอไรซ์ จึงได้นำสิ่งนี้มาเป็นจุดขาย และทำให้เกิดความแตกต่าง และส่งผลให้ยอดขายก้าวกระโดดขึ้นมา
2. รสชาติ
ต้องศึกษาและหาความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อเข้าใจถึงเรื่องนี้แล้ว มันจะเกิดกระบวนการและการทำขึ้นมาเรื่อยๆ และต้องคิดหาวิธีที่สร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้า คือ การวางขายแบบจำกัดเวลา เพราะเป็นการช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้แน่นอน แต่ต้องบอกก่อนว่า การที่จะอยู่ในบลูโอเชียนได้จะต้องอาศัยความเข้าใจลึกไปกว่าการเข้าใจภาพลักษณ์ปกติ ที่อ่านในเปเปอร์รีเสิร์ช
3. ฟังก์ชัน
ต้องหาฟังก์ชันใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์ อย่างของโทฟุซัง เวลา Introduce อะไรใหม่ๆ มันก็ช่วยทำให้ตลาดมันโต ซึ่งในตอนนี้เทรนด์ของคนชอบกินโปรตีนจากพืชมีมากขึ้น จึงได้ใส่ฟังก์ชันนี้เข้าไป และเราก็อยู่ใน Segment ที่โตพอดี ยอดขายจึงเติบโตมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาดูว่าเทรนด์อะไรมา อย่างเทรนด์โปรตีนมา เราก็จะเติมฟังก์ชันนี้เข้าไป แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ยังเชื่อว่ายังมีเทรนด์อีกหลายเทรนด์ที่ถ้าผู้ประกอบการเข้าใจ และใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น เราก็จะรู้ว่าเทรนด์คืออะไร
นอกจาก 3 ข้อที่น่าสนใจแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทุกคน ในการหาบลูโอเชียนที่ดี ต้องมีอะไรอีกบ้าง
การจะมีบลูโอเชียนที่ดีได้ แน่นอนที่สุดคือเราต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการแบบไหน และต้องเป็นสิ่งที่เราถนัดและทำได้ อันนี้ก็เป็นรู้เรา และนอกจากรู้เราแล้ว เราจะต้องรู้เขาด้วย นั่นคือ รู้ในสิ่งที่คู่แข่งทำอะไรได้ดีและถนัด สิ่งที่บลูโอเชียนอยู่คือ Winning Zone ซึ่งในหลายๆ ครั้งเราจะไม่ค่อยเจอมัน แต่ในซึ่งสิ่งที่เราชอบทำ คือ Losing Zone เป็นสิ่งที่คู่แข่งทำได้ดี เราคิดเองว่าเราจะสร้าง Capability ได้
นั่นคือ การโลภ และไปอยากได้ในสิ่งที่เราไม่เคยมีมาก่อน เพียงเพราะเห็นว่าคนอื่นทำได้ดี เลยอยากกระโจนเข้าไปตรงนั้น ซึ่งอาจจะแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
เพราะฉะนั้น การที่จะเจอบลูโอเชียนได้นั้น จึงต้อง Remind ตัวเองอยู่เสมอ พยายามหาจุดที่ลูกค้าต้องการ แล้วรู้เขารู้เรา คือรู้ทั้งตัวเองและรู้ทั้งคู่แข่ง แล้วเราจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ