ย้อนเวลาพาชม เมืองสงขลาในอดีต ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สงขลา

"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา"

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” พาลงใต้ไปเยี่ยมเยียนเมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองเก่าแก่ของไทยเมืองหนึ่ง อย่าง จังหวัดสงขลา กับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ได้แวะเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” ที่จัดแสดงความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตต่างๆ ของคนสงขลาเอาไว้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป เดิมเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา หรือก็คือต้นตระกูล ณ สงขลา ในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2421 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5

ใช้เป็นบ้านพักอาศัยของตระกูล ณ  สงขลาได้ 16 ปี ทางราชการได้ซื้ออาคารหลังนี้จากทายาทของตระกูล เพื่อใช้เป็นที่พำนักข้าหลวงและที่ทำการราชการ และท้ายที่สุดใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสงขลา ก่อนจะถูกทิ้งร้างและได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2516 และทางกรมศิลปากรได้เข้ามาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ในปี 2525

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของจังหวัด งานประณีตศิลป์ต่างๆ รวมถึงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

บรรยากาศของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวร่มรื่น เมื่อเดินผ่านประตูรั้วเข้ามา ก็จะเจอสนามหญ้าสีเขียว ที่ขนาบข้างด้วย เรือนไม้ทางด้านซ้ายและขวา โดยจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวสงขลา เมื่อเดินตรงเข้าไปข้างในจะเป็นการจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุอื่นๆ โดยภายในจะแบ่งเป็น 2 ชั้น 14 โซน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเยี่ยมชม

ชั้นล่างแบ่งเป็น 9 โซนด้วยกัน โซนแรก โซนวิถีชีวิตสงขลา “โหนด-นา-เล” แสดงวิถีชีวิตประจำวันของชาวสงขลาที่อยู่กับตาลโตนด นาข้าว และการประมง โซนที่ 2  เป็นโซน “ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา” จัดแสดงประวัติของจังหวัดตั้งแต่อดีต จนมีการพัฒนาเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขาย

โซน 3 และ 4 คือโซน “สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์” กับโซน “ประวัติศาสตร์แรกเริ่มบนคาบสมุทรสทิงพระ” บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาตั้งแต่คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตั้งแต่ 6,000 ปีที่แล้ว

โซนที่ 5 ถึง 7 คือโซน “สงขลาหัวเขาแดง”  “สงขลาแหลมสน” และ “สงขลาบ่อยาง” เมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 ตลอดจนเรื่องราวศิลปะ อิทธิพล และวิทยาการที่ได้รับจากต่างชาติ

โซนที่ 13 โซน “สงขลาย้อนยุค” ย่านธุรกิจการค้าที่สะท้อนภาพความทันสมัยของสงขลา เมื่อ 60 – 70 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

และโซนสุดท้ายในชั้นล่าง คือโซน “ศาลากลางแจ้ง” ซึ่งเป็นโซนที่อยู่ด้านหลังสุดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดงชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่วัดต่างๆ ได้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถาน

เดินขึ้นไปชั้น 2 จะเจอเข้ากับโซนที่ 9 “บันทึกสงขลา” จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุของผู้ปกครองเมืองสงขลาในสมัยต่างๆ โซนที่ 8 โซน “การค้าระหว่างประเทศ”

และโซนที่ 10 – 12 เป็นโซน “ศิลปกรรมสงขลา” “ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง” และ “สุนทรียภาพของชาวใต้ตอนล่าง” เป็นโซนที่จัดแสดงตั้งแต่กำเนิดชุมชนเมืองโบราณบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี มีชาวไทย ไทยมุสลิม จีนและตะวันตกเข้ามาตั้งรกราก ไปจนถึงอิทธิพลทางศิลปะ ศาสนา และความเชื่อจากอินเดีย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตั้งอยู่บนถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เปิดทำการในวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.และหยุดในวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยชาวไทยเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมคนละ 30 บาท และ ชาวต่างชาติคนละ 150 บาท ส่วนพระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ และผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมได้ฟรี สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ (074) 311-728 ในเวลาทำการ