ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เราจะพบว่า ผู้คนยุคนี้คงไม่เสียเวลากับการมาทำอาหารเองแทนที่จะใช้เวลาพักผ่อน เหตุนี้เองผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปสำเร็จ หรือประเภทสดบรรจุแพ็กหลายชนิดจึงมีวางจำหน่ายหลายแห่งพร้อมนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทานได้ทันที แต่ทั้งนี้การบริโภคอย่างชาญฉลาดควรใส่ใจกับความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย มิเช่นนั้นอาจกลายไปเป็นการเร่งรีบทำให้อายุสั้นเสียมากกว่า
คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับทาง สกว. นำงานวิจัยการเลี้ยงไก่พื้นบ้านประดู่หางดำของชาวบ้านทางภาคเหนือเพื่อส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นอาชีพ แล้วส่งเข้ากระบวนการที่ได้มาตรฐานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำไปขายตามสถานที่ต่างๆ หวังสร้างความสนใจให้แก่กลุ่มลูกค้าทุกระดับที่รักสุขภาพและต้องการความรวดเร็ว
รศ.ดร. ศิริพร กิรติการกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าไก่พันธุ์ประดู่หางดำ เป็นไก่พื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่โบราณ พัฒนามาจากไก่บ้าน แต่เดิมนิยมนำมาเป็นไก่ชน โดยไก่พันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบภาคกลางของประเทศ แต่ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายทั่วประเทศแบบไก่พื้นบ้าน
ขณะเดียวกันทางคณะวิจัยฯ เล็งเห็นว่าไก่พันธุ์นี้น่าจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยอาจเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก จึงได้จัดทำเป็นโครงการ “ระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำอย่างยั่งยืน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นในการช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อยสร้างรายได้เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“การเลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำ จึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรรายย่อย 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับการสนับสนุน งบประมาณ จากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2555 ได้ดำเนินการสร้างต้นแบบการรวมตัวของเกษตรกร เพื่อสร้างการร่วมมือกันในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมไปกับการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำความรู้/เทคนิคทางวิชาการอันมีความสำคัญมาเป็นกรอบแนวทาง ซึ่งประกอบด้วย”
ประการแรก การจัดการพันธุ์ ให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ด้วยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ของชุมชน (Community breeding) กระจายในทุกจังหวัด ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้นำที่เป็นระบบฟาร์มใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติผลิตลูกไก่กว่า 20 แห่ง ทุกจังหวัด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลูกไก่ แล้วหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตลูกไก่ สร้างปฏิทินการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อกำหนดให้ได้รายละมากกว่า 200 ตัว ต่อรุ่น ซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอต่อการสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนแล้วยังพอเพียงต่อการป้อนสู่ตลาดผู้บริโภค
ประการต่อมา ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านอาหารและพืชอาหารที่เกษตรกรสามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ปลายข้าว รำ ต้นกล้วย และหญ้าที่ให้โภชนาการสูง ทั้งนี้ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้อาหารสำเร็จรูป แล้วใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อผลิตพืชอาหารหมักด้วยจุลินทรีย์ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และ
ประการสุดท้าย คือการจัดระบบฟาร์มที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค พร้อมไปกับการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ด้วยแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) และการสร้างอาหารปลอดภัย (Food safety)
ในปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 200 ราย ใน 8 จังหวัด สร้างความเข้มแข็งในระบบการเลี้ยง 3 รูปแบบ คือ
- การเลี้ยงไก่ขุนในระบบเลี้ยงปล่อยให้ไก่หากินตามธรรมชาติ (Free range) หรือ Happy Chick
- การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในโรงเรือนกึ่งขังกึ่งปล่อย และ
- การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกไก่ที่เป็นพันธุ์แท้และลูกผสม
ควรเลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน
รศ.ดร. ศิริพร แนะนำว่า จำนวนไก่ที่เลี้ยงควรดูความเหมาะสมในแต่ละครัวเรือนด้วย การดูจำนวนผู้เลี้ยงในครัวเรือนเป็นหลัก อย่างถ้ามีคนเลี้ยง จำนวน 1-2 คน ควรเลี้ยงตัวเมียสัก 20 ตัว ตัวผู้ 5 ตัว ทั้งนี้ควรมีสัดส่วน 1 ต่อ 4 เพราะจะสะท้อนให้เห็นต้นทุนทั้งหมดไม่เกิน 3,000 บาท แต่อาจมีรายได้ 6,000-7,000 บาท และเมื่อหักต้นทุนแล้ว อาจเหลือกำไรสักครึ่งหนึ่ง
ทำเป็นอาหารพื้นเมืองขาย สร้างความสนใจแก่นักท่องเที่ยว
ก่อนหน้านี้เคยลองให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มเปลี่ยนจากการแปรรูปอาหารจากปลามาใช้ไก่ประดู่หางดำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ ไส้อั่ว ผลิตภัณฑ์ไก่นึ่ง ไก่อบเกลือ เพื่อนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยวในตลาดล่าง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการประกอบอาชีพนี้ต่อ ดังนั้น ในเมื่อตลาดล่างให้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว จึงควรวางแผนทำตลาดกลางและตลาดบนต่อไป
เจาะกลุ่มตลาดระดับกลางและบน ส่งขายโมเดิร์นเทรด
ภายหลังการทดสอบตลาดพบว่า ผู้บริโภคส่วนมากโดยเฉพาะตลาดระดับกลางและบน ดังนั้น แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดจึงได้ก้าวขึ้นมาถึงการสร้างแบรนด์ โดยกำหนดชื่อว่า “ไก่นิลล้านนา” นำไปบรรจุลงถุงพลาสติก PE (Polyethylene) ด้วยระบบสุญญากาศแยกขายไก่สดแช่แข็งทั้งตัวและแบบแปรรูปใส่ถุง อีกทั้งยังมีไข่สดจำหน่าย โดยมีการรับรองมาตรฐาน GMP ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ประดู่หางดำ มีขายตั้งแต่ลูกไก่พันธุ์แท้ ราคา 20 บาท ต่อตัว และลูกผสมราคา 16-18 บาท ต่อตัว
ถ้าเป็นไก่ขุน มีชีวิต กิโลกรัมละ 75-85 บาท และลูกผสม 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับไก่ขุนพันธุ์แท้ ที่เลี้ยงในระบบเลี้ยงปล่อยหากินตามธรรมชาติ อายุการขุน 105-115 วัน (น้ำหนัก 1.3-1.5 กิโลกรัม ต่อตัว)
ในกรณีที่เป็นไก่สดชำแหละ (ทั้งตัว) ราคา 159 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วเป็นไก่ขุนลูกผสม โดยมีจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดสำคัญๆ เช่น ห้างแม็คโคร ทั่วภาคเหนือ สำหรับไก่ขุนพันธุ์แท้ free range จำหน่ายในราคา 220-250 บาท ต่อกิโลกรัม
แต่ถ้าเป็นไก่สดชำแหละแยกส่วน (เฉพาะไก่ประดู่พันธุ์แท้ เลี้ยงปล่อยหากินเองตามธรรมชาติ) ราคากิโลกรัมละ 350 บาท วางจำหน่ายในตลาดระดับบน/ภัตตาคาร ในกรุงเทพฯ ส่วนไข่ไก่ประดู่หางดำที่เลี้ยงปล่อยธรรมชาติ ขายแพ็กละ 30-35 บาท (ขนาดบรรจุ 4 ฟอง)
การพึ่งพาตนเอง และความยั่งยืน ของอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำของเกษตรกรรายย่อย
รศ.ดร. ศิริพร ชี้ว่าการเลี้ยงไก่ในระบบเปิด นับว่ามีความเสี่ยงของการติดโรคได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ของบริษัทขนาดใหญ่ เกษตรกรต้องมีการจัดการฟาร์มที่ดี จัดทำโปรแกรมวัคซีนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน การพึ่งพาตนเองในการจัดการพ่อแม่พันธุ์ให้สามารถดำรงอยู่ในท้องถิ่น
สำหรับด้านการตลาด เกษตรกรจะต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและมาตรฐานเพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ผู้บริโภค ควรรักษาชื่อเสียงของแบรนด์สินค้าในอันที่จะนำไปสู่การขยายโอกาสที่มั่นคงในอนาคต อีกทั้งควรมีการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อการต่อยอดในอนาคต
ดังนั้น สิ่งที่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างดีคือ การรวมตัวกันของเกษตรกร ตั้งแต่การบริหารจัดการ การผลิต การแปรรูป และการตลาด เพราะจะเอื้อประโยชน์ทำให้เกิดอำนาจการต่อรอง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเกษตร
“ขณะเดียวกันถือเป็นแบบอย่างหนึ่งของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งการนำองค์ความรู้มาบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ เป็นการช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ด้วยคุณภาพผลผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างดีด้วย” รศ.ดร. ศิริพร กล่าว
สอบถามรายละเอียดข้อมูลการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเป็นอาชีพ ติดต่อที่ รศ.ดร. ศิริพร กิรติการกุล โทร. (086) 428-5364 หรือที่โครงการ “ระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำอย่างยั่งยืน” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. (086) 420-9651, (086) 428-5364, (081) 951-7391 โทรศัพท์/แฟกซ์ (053) 326-259 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)