อดีตชาวสวน ผันตัวสู่เจ้าของฟาร์มหมูพันล้าน เริ่มต้นแค่แม่พันธุ์ 4 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว

นับเป็นอาณาจักรฟาร์มหมูที่ผลิตสุกรแบบครบวงจรมากที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับ เครือวี.พี.เอฟ.กรุ๊ป ซึ่งประกอบไปด้วย 4 บริษัทในเครือ ได้แก่  1. บริษัท วี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มพ่อพันธ์แม่  2. บริษัท แม่ทา วี พี จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรขุน แบบโรงเรือนปิด 3. บริษัท แม่ทา วี . พี . ฟีดมิลล์ เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 4. บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จำกัด เป็นโรงชำแหละสุกร  รวมรายได้ทั้ง 4 บริษัทนับพันล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทในเครือวี.พี.เอฟ.กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 43 ปี บริหารโดยเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งคุณวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ เป็นผู้ให้ข้อมูลกับเส้นทางเศรษฐี

15782292_1609994292361003_1490110902_n

จากชาวสวน ความรู้ ม.3
สู่เจ้าของฟาร์มหมูพันล้าน

คุณวรพงศ์ เท้าความว่า ฟาร์มหมูแห่งนี้เกิดขึ้นจากคุณพ่อ หรือคุณยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ เดิมท่านเป็นชาวสวน  เริ่มต้นเลี้ยงหมู วัว ไก่ เมื่อปี 2516 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 60 ไร่ หมูมีเพียงแม่พันธุ์ 4 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว เลี้ยงแบบชาวบ้านทั่วไป ทำคลอดหมูเอง ให้อาหารเอง จากนั้นค่อยๆ ขยายจำนวนสัตว์ และพื้นที่เลี้ยงเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วัวและไก่ล้นตลาด หนที่สุดเลิกเลี้ยงวัวและไก่ หันมาเลี้ยงหมูเพียงอย่างเดียว

“ตอนที่คุณพ่อเลี้ยงหมู วัว และไก่ ท่านขวนขวายหาความรู้ตลอด ใช้วิธีเข้าไปอบรมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงไปดูงานต่างประเทศ แล้วนำมาปรับปรุงที่ฟาร์มสม่ำเสมอ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วัวและไก่ล้นตลาด อีกทั้งมีเจ้าใหญ่อย่างซีพีอยู่แล้ว ท่านเลยมองว่าเลี้ยงหมูอย่างเดียวดีกว่า”

15749565_1609994255694340_823782276_n
คุณวรพงศ์ลูกชาย

เครือวี.พี.เอฟ.กรุ๊ป ซึ่งประกอบไปด้วย 4 บริษัทในเครือ ได้แก่

  1. บริษัท วี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มพ่อพันธ์แม่ เพื่อผลิตลูกสุกรส่งต่อนำไปอนุบาลและเลี้ยงสุกรขุน ที่บริษัทในเครือต่อไป
  2. บริษัท แม่ทา วี พี จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรขุน แบบโรงเรือนปิด โดยรับซื้อลูกสุกรที่ผลิตจากบริษัท วี . พี . เอฟ . กรุ๊ป จำกัด นำมาอนุบาลและเลี้ยงเป็นสุกรขุน เพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทในเครือ และลูกค้ารายย่อย เพื่อทำการชำแหละและจำหน่ายต่อไป
  3. บริษัท แม่ทา วี . พี . ฟีดมิลล์ เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2548 สามารถผลิตอาหารสุกรไว้สำหรับใช้ในเครือฯ โดยควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั้งสิ้นรวม 45 ตัน / ชั่วโมง
  4. บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จำกัด เป็นโรงชำแหละสุกรที่ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ สามารถชำแหละสุกรได้ 200 ตัว / ชั่วโมง เพื่อจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละให้กับลูกค้าและซุบเปอร์สโตร์รายใหญ่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง และมีโครงการที่จะส่งออกซากสุกรและเนื้อสุกรชำแหละในอนาคต

“ฟาร์มเลี้ยงสุกรขุนแบบโรงเรือนปิดที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยมีมาตรฐาน GAP, GMP, HACCP, EST 101 ในการรองรับระบบการผลิต มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ผลิตเป็นระบบน้ำประปาใช้และบริโภคได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการมูลสุกรและของเสียโดยนำเข้าสู่ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในโครงการ”

15782421_1610888542271578_39824814_n

สำหรับจำนวนสุกรขุนที่ขายออกไป คุณวรพงศ์ ระบุว่า ในปี 2557 จำนวนสุกรขุนที่ขายออกไปมีจำนวนราว 180,000 ตัว ปี 2558 ราว  240,000 ตัว และในปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตัว หมูที่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์เดนมาร์ก คุณภาพดี เนื้อแน่น ไขมันน้อย อายุหมูที่นำไปเชือดจะใช้เวลาเลี้ยง 26 สัปดาห์ น้ำหนักต่อตัว 110-115กิโลกรัม ส่วนพ่อแม่พันธุ์หมูต้องมีอายุราว 33 สัปดาห์

“หัวใจสำคัญที่ทำให้ วี.พี.เอฟ.กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจมาได้นาน 43 ปี คือ ผลิตสุกรที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขยายธุรกิจให้ครบวงจรทุกไลน์การผลิต เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง และกำไรค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องเพิ่มมูลค่าโดยแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าพร้อมรับประทาน เช่น เนื้อหมูสำหรับปิ้งย่าง หมูหมัก หมูหมักกระเทียมพริกไทย หมูสไลซ์บางแช่แข็ง ไส้กรอก แฮม เบคอนลูกชิ้น ขาหมูรมควัน รสชาติกลมกล่อม ไม่เค็ม มีน้ำซุป น้ำจิ้ม พร้อมกันนี้ก็ได้รุกตลาดส่งออกเนื้อหมูแช่แข็งไปฮ่องกง จีน”

15801213_1609994302361002_1443367239_n

รุกธุรกิจสินค้าแปรรูปจากหมู
น้อมนำพระราชดำริจากในหลวง ร. 9 มาใช้

และเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ทางบริษัทดังกล่าวได้จับมือนักเทคโนโลยีเครือข่าย สวทช. ภาคเหนือ คิดสูตร “ไส้กรอกลดเค็ม”

“เทรนด์สุขภาพ ต้องการอาหารที่กินง่าย ซึ่งไส้กรอกสามารถตอบโจทย์ได้ แต่จะปรับสูตรลดเกลือโซเดียม เลือกใช้เกลือโปรแตสเซียมผสมกรดอะมิโนในอัตราส่วนที่เหมาะสมแทนเกลือโซเดียม โดยที่กรดอะมิโนมาช่วยบดบังรสขมและเสริมรสชาติของไส้กรอก”

นอกจากนั้นบริษัทดังกล่าวยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำเกษตรและอุตสาหกรรม โดยยึดถือหลักการเกษตรยั่งยืน ทั้งการประยุกต์ใช้การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฟาร์ม ด้วยการให้บุคลากรหรือพนักงานสามารถใช้พื้นที่ภายในเพื่อการเพาะปลูก นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้เหล่านี้เกิดจากการค้าขายระหว่างชุมชน รวมทั้งการค้าขายให้กับโรงอาหาร ยังมีการนำมูลสุกรที่เหลือใช้มาสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ไบโอแก๊ส ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สมีเทนที่สามารถใช้งานได้จริงพร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานได้กว่า 12 ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกและผักตบชวา ซึ่งถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เพื่อการบำบัดน้ำเสียและป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย โดยการใช้ประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ