“ครีเอเตอร์เว็บตูน” อาชีพใหม่ยุค 2020 สร้างรายได้สุดปังได้กว่าหลักล้าน!

“ครีเอเตอร์เว็บตูน” อาชีพใหม่ยุค 2020 สร้างรายได้สุดปังได้กว่าหลักล้าน!

ครีเอเตอร์เว็บตูน – “นักวาดการ์ตูน” อาชีพจากความบันเทิงที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ กลายเป็นหนึ่งในความฝันและแรงบันดาลใจสู่อาชีพที่เด็กๆ อยากเป็น อีกทั้งความนิยมของการ์ตูนออนไลน์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ครีเอเตอร์เว็บตูน จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มาแรงเลยทีเดียว ทว่าเพียงทักษะทางศิลปะที่สามารถขีดเขียนลายเส้นเป็นตัวการ์ตูน บวกจินตนาการสร้างสรรค์เรื่องราวได้สนุกสนานนั้นยังไม่พอ สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นในเส้นทางนักวาด คือโอกาสที่ผลงานจะได้เผยแพร่สู่โลกของคนรักการ์ตูนนั่นเอง

ข้อมูลจาก LINE WEBTOON เผยว่า ปัจจุบันมีผู้อ่านการ์ตูนออนไลน์ทั่วโลก มากกว่า 60,000,000 คนต่อเดือน ขณะที่ในประเทศไทย มีผู้ใช้กว่า 16,800,000 คน ด้วยคอนเทนต์การ์ตูนให้เลือกอ่านมากกว่า 1,300,000 เรื่องทั่วโลก จากผลงานของครีเอเตอร์หลากหลายสัญชาติ ในขณะเดียวกัน ยังเปิดประตูแห่งโอกาสให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่มากมายได้โชว์ความสามารถ จนประสบความสำเร็จทั้งรายได้และมีชื่อเสียงในระดับอินเตอร์

4 ครีเอเตอร์เว็บตูนชื่อดังทั้งชาวไทยและเกาหลี ได้มาร่วมกันเล่าถึงประสบการณ์เส้นทางอาชีพครีเอเตอร์เว็บตูน และความโด่งดังไกลระดับโกอินเตอร์กับผลงานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและจุดไฟฝันให้ผู้คนที่สนใจอยากเป็นครีเอเตอร์เว็บตูน

เริ่มที่ ปาร์กแทจุน เจ้าของผลงานเว็บตูนยอดฮิต “LOOKISM” ที่มีมากกว่า 250 ตอน มีผู้ติดตามอ่านมากมายทั่วโลก ได้เล่าถึงวัยเด็กที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนให้ฟังว่า เพราะหนังสือการ์ตูนเป็นเหมือนดั่งเพื่อนของเขา ด้วยฐานะทางบ้านยากจน ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนด้านการวาดการ์ตูนอย่างที่ตั้งใจ แต่เขาไม่เคยละทิ้งความฝันนั้น

ปาร์กแทจุน เจ้าของผลงานเว็บตูนยอดฮิต “LOOKISM”

“ผมขยันฝึกวาดรูปมากๆ อยากบอกให้ชาวโลกรู้ว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่วาดรูปเก่ง และใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนให้ได้ก่อนอายุ 60 แต่ตอนช่วงอายุ 20 ปี ผมต้องทำงานอื่นไปด้วย เพราะตอนนั้นคิดว่าอาชีพนี้ผลตอบแทนคงไม่เยอะ โชคดีที่ได้เจอไลน์เว็บตูน และผมได้รับประสบการณ์มากมายจากการทำงาน มีเรื่องราวต่างๆ เข้ามาในชีวิต การเป็นครีเอเตอร์ที่ดีแค่วาดรูปเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเก่งรอบด้าน ทั้งวาดรูปเก่ง ขยันศึกษาตลอดเวลา และต้องมีประสบการณ์ชีวิตเพื่อนำมาสร้างสตอรี่ที่น่าสนใจด้วยจึงจะประสบความสำเร็จได้ ความฝันของผมเป็นจริงในวันที่ผมอายุ 30 ซึ่งเร็วกว่าที่คิดไว้” ปาร์กแทจุน เผย

Ryoung เจ้าของผลงานเรื่อง “Killstagram”

Ryoung นามปากกาของครีเอเตอร์สาวผู้สร้างสรรค์ลายเส้นเว็บตูนน่ารักๆ แต่แฝงความทริลเลอร์อยู่ในเรื่อง “Killstagram”  เล่าว่า

“ตั้งแต่เด็กๆ ฉันเป็นคนชอบฟังเรื่องราวต่างๆ และชอบแต่งเรื่องด้วย เมื่อก่อนก็มีหลายความฝัน อยากเป็นผู้กำกับหนัง อยากเป็นหลายอย่าง แต่พอได้เริ่มเรียนวาดรูป ได้ลองเขียนเว็บตูนลงในแคนวาส (แพลตฟอร์มของ LINE WEBTOON ที่เปิดพื้นที่ให้ครีเอเตอร์มือสมัครเล่นได้โชว์ผลงาน) ตั้งแต่ปี 2013 พัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ สิ่งสำคัญที่ครีเอเตอร์ทุกคนต้องอย่าหยุดฝึกฝน คือการศึกษาเรื่องลายเส้นอยู่เรื่อยๆ ว่าจะวาดรูปยังไงดี อ่านผลงานที่คนชื่นชอบกัน แล้วคิดว่าจะทำยังไงให้คนรักงานของเราบ้าง แม้ว่าระหว่างทางจะมีเหนื่อย มีท้อบ้าง แต่ไม่เคยหยุดลงผลงานในเว็บตูน เพราะฉะนั้น สิ่งที่คิดว่าทำให้ประสบความสำเร็จคือ เราต้องอย่ายอมแพ้ อย่าล้มเลิกความตั้งใจ และเวลาได้ฟีดแบ็กมาไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็อย่าท้อ แต่คิดว่าจะนำมาปรับใช้ได้ยังไงดีกว่า”

พลอย-ประภาพรรณ ภักดีพิทักษ์ หรือ Lonely Cat อดีตล่ามภาษาญี่ปุ่นผู้กลายมาเป็นครีเอเตอร์

พลอย-ประภาพรรณ ภักดีพิทักษ์ หรือ Lonely Cat อดีตล่ามภาษาญี่ปุ่นผู้กลายมาเป็นครีเอเตอร์ เจ้าของผลงานเรื่อง “ฟา องครักษ์หญิงจำเป็น” และ “365days limited lover” มองว่านักเขียนการ์ตูนไทยฝีมือดีมีเยอะ แต่ขาดทักษะในการเล่าเรื่องที่ดี

“พลอยจะให้น้ำหนักในเรื่องของจินตนาการ การสร้างเรื่องราวมากกว่าทักษะการวาดลายเส้น เพราะโลกอินเตอร์เน็ตเดี๋ยวนี้ ทำให้เราวาดภาพได้ง่ายขึ้น ถ้าเราคิดเรื่องได้ล้ำกว่า ไม่เหมือนใครก็จะมีคนติดตามผลงานเราไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่นักเขียนส่วนใหญ่นิยมทำกันในการเล่าเรื่องคือ การหักมุมเนื้อเรื่องหรือทำให้คนอ่านเซอร์ไพรส์ แต่ส่วนตัวพลอยจะให้ความสำคัญกับการสร้างเสน่ห์ของตัวละครด้วย ก็เหมือนกับที่เรากรี๊ดดารา บ้านักร้อง เทคนิคนี้นำมาใช้กับการเขียนการ์ตูนได้เหมือนกัน ตัวละครของเราต้องมีเสน่ห์พอให้คนอ่านรักและติดตาม คอยเชียร์ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ส่วนใหญ่คนที่อ่านงานพลอยจะติดตัวละครมากกว่าเนื้อเรื่องด้วยซ้ำไป” เธอว่าอย่างนั้น

เก่ง-อัตพล นิลบดี หรือ Butter Sweet เจ้าของผลงาน “ต้นหอม สตอรี่” และ “ไอดินกับกลิ่นฝน”

เก่ง-อัตพล นิลบดี หรือ Butter Sweet  เจ้าของผลงาน “ต้นหอม สตอรี่” และ “ไอดินกับกลิ่นฝน” การ์ตูนที่นำเสนอเรื่องราวที่ต้องการชักนำสังคม ซึ่งโดดเด่นและแตกต่างจากคอนเทนต์อื่นๆ ของเหล่าครีเอเตอร์ด้วยกัน

โดยเขากล่าวว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้มีการ์ตูนที่ชักนำสังคมมากกว่านี้ เรามักจะเห็นการ์ตูนที่สะท้อนสังคมมากกว่า คือ เอาสิ่งที่สังคมเป็นมาบอกเล่า แต่ไม่ได้บอกวิธีแก้ปัญหา เขาจึงอยากเขียนการ์ตูนที่บอกวิธีแก้ไปด้วยเพื่อให้คนที่เจอปัญหาได้รู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นได้ยังไง ซึ่งในการเขียนแนวนี้ต้องทำการบ้านค่อนข้างมากเลยทีเดียว

“ส่วนลายเส้นจะบิดเบี้ยวยังไงก็เป็นลายเส้นของเรา ไม่ต้องพยายามเป็นเหมือนใคร ถ้าอยากวาดเก่ง มันไม่มีสูตรตายตัวหรือทางลัด แค่ต้องฝึกทุกวัน จะมาวาดเล่นๆ ไม่ได้เพราะนี่เป็นงาน แต่การสร้างคอนเทนต์ให้แตกต่างจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทำยังไงให้เกิดความแปลกใหม่ น่าสนใจ โดยเฉพาะในโลกอินเตอร์เน็ตที่อะไรๆ ก็ถึงกันหมด การเปรียบเทียบเกิดขึ้นได้ง่ายมาก” คุณเก่ง ว่าอย่างนั้น

ทุกวันนี้นักเขียนการ์ตูนไทยสามารถอยู่ได้ และไม่ได้อยู่ยากหรือไส้แห้งเหมือนสมัยก่อน เพราะสามารถสร้างรายได้กว่าหลักล้านเลยทีเดียว!

แต่ความท้าทายของเหล่าครีเอเตอร์เว็บตูนในยุค 2020 รวมถึงผู้ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครีเอเตอร์หน้าใหม่ก็มีไม่น้อย นอกจากต้องหมั่นฝึกฝน ค้นหาลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว การแสวงหาพล็อตเรื่องใหม่ๆ ให้กระแทกใจคนอ่านยุคดิจิตอล ซึ่งมีสื่อล้ำสมัยให้ต้องตามเทรนด์กันตลอดเวลา ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ซึ่งทาง LINE WEBTOON เอง ก็ได้สนับสนุน ส่งเสริม และปั้นครีเอเตอร์เว็บตูนหน้าใหม่ต่อเนื่อง หรือการปั้นคอนเทนต์ให้ตรงตามเทรนด์คนอ่าน เพื่อการต่อยอดสู่ระดับโลก โอกาสและความฝันที่เป็น “ครีเอเตอร์เว็บตูน” รายได้หลักล้าน จึงไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม