เผยแพร่ |
---|
แม้โควิด-19 จะแพร่ระบาดมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ยังสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ คนจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ นักเรียนและนักศึกษาไม่น้อยต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน เพราะประสบปัญหาค่าใช้จ่ายเล่าเรียน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้น
กลุ่มบริษัท ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ในฐานะองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) จึงเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดอบรมสร้างอาชีพ-เสริมทักษะ เพื่อให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ดูแลตัวเองและครอบครัวในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี เผยว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญทั้งโควิด ภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทั้งหมดกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ หลายคนว่างงาน ต้องกลับภูมิลำเนาเดิม และต้องหาอาชีพใหม่ๆ สร้างรายได้
เอสซีจีจึงนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่มี ไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อาทิ โครงการเลิกแล้งเลิกจน ที่ทำอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอสซีจีไปช่วยจัดการเรื่องน้ำ ให้ความรู้เรื่องการสร้างฝายแก่ชุมชน ซึ่งเมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้แล้ว ผลผลิตทางการเกษตรก็ดีขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพมั่นคงมากขึ้น ที่ผ่านมาช่วยเหลือไปแล้วกว่า 38,000 ครัวเรือน ใน 190 ชุมชน 34 จังหวัด ส่วนปีนี้ตั้งเป้าขยายอีก 9 พื้นที่ 8 จังหวัด
เมื่อสังคมไทยเผชิญวิกฤตโควิด เอสซีจีก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในแง่สุขภาพ เช่น คิดค้นและพัฒนาห้องตรวจคัดกรองเชื้อที่มีหลายขนาด ตั้งแต่ห้องขนาดเล็กสำหรับ 1 คน ไปจนถึงห้องขนาดใหญ่ เตียงกระดาษสำหรับผู้ป่วยโควิด ที่ส่งไปยังศูนย์พักคอยรวมแล้วกว่า 1 แสนเตียง พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับส่งของใช้ให้ผู้ป่วยโควิด เป็นต้น
“เอสซีจียังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรีสกิลและอัพสกิลทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนรอบโรงงานของเราทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี โดยตั้งเป้าช่วยเหลือให้ได้ 20,000 คน ภายในปี 2568 เฉลี่ยแล้วปีละ 5,000 คน คาดว่าเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้” ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี เผย
การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ของเอสซีจีก็ว่าได้ เพราะขยับขยายหลายทักษะอาชีพ และดำเนินงานอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2564 อาทิ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการก่อสร้างจาก CPAC Green Solution ของเอสซีจี ไปถ่ายทอดให้ช่างก่อสร้างในท้องถิ่น ทั้งเรื่องการประหยัดเวลา การประหยัดวัสดุก่อสร้าง การไม่ก่อให้เกิดของเสีย ฯลฯ โดยยังคงคุณภาพของงานไว้สูงสุด ปัจจุบันมีช่างที่เป็นพาร์ตเนอร์กว่า 2,000 ราย และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนช่างกว่า 2,600 รายในปีนี้
เมื่อโควิดทำให้ผู้คนต้องเวิร์กฟรอมโฮม เกิดความต้องการปรับปรุงและตกแต่งบ้าน แต่อาจขาดแคลนช่างมีฝีมือ เอสซีจีจึงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘Q-Chang’ (คิวช่าง) ขึ้น ให้ลูกค้ากับช่างได้มาเจอกัน ที่ผ่านมาอบรมช่างสร้างช่างไปแล้วกว่า 1,000 ราย ส่วนปีนี้ เอสซีจีร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งเป้าอบรมเพิ่มอีก 1,000 ราย
ยังมีการอบรมอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ เพราะเป็นอาชีพที่ขาดแคลนและต้องใช้ทักษะสูง เอสซีจีจึงจัดอบรมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 200 ราย และปีนี้จะอบรมเพิ่มอีก 200 ราย
“เรายังสนับสนุนอาชีพอื่นๆ ที่ตลาดต้องการอีก เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn ของมูลนิธิเอสซีจี ให้น้องๆ นักเรียนที่จบ ม.6 มาเรียนระยะสั้น 1 ปี จบหลักสูตรแล้วสามารถทำงานได้เลย เพราะตอนนี้สังคมไทยต้องการอาชีพเหล่านี้มาก ซึ่งเรามอบทุนนี้ไปแล้ว 100 ทุน และจะมอบอีก 200 ทุนในปีนี้” คุณวีนัส เผย
ขณะเดียวกัน เอสซีจีก็สนับสนุนชุมชนเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านโครงการพลังชุมชน โดยให้คำแนะนำตั้งแต่วัตถุดิบหรือวัสดุที่ใช้ การคำนวณต้นทุนและราคา การสร้างแบรนด์ ช่องทางจำหน่ายทั้งออฟไลน์แลออนไลน์ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม แต่ยังส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมามีผู้เข้าอบรมแล้วกว่า 400 ราย ใน 13 จังหวัด ปีนี้วางเป้าอบรมเพิ่มอีก 600 ราย ใน 13 จังหวัด
“อย่างหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดลำปางมีสับปะรดเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น เราก็ไปส่งเสริมเรื่องการทำพายสับปะรด ทำอย่างไรให้อร่อยถูกปาก และไปช่วยสร้างแบรนด์ กระทั่งพายสับปะรดของชุมชนนี้ไปเป็นของว่างงานเลี้ยงอาคารค่ำในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวชุมชนภูมิใจมาก”
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มของเอสซีจีอย่าง NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมเสริมความรู้ เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ผ่านชุมชนเพาะสุขสยามคูโบต้า ที่ร่วมกับผู้แทนจำหน่าย ส่งเสริมการแปรรูปและการตลาด ตั้งเป้าปี 2565-2569 รวม 2,000 ราย
การส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งมิติที่เอสซีจีให้ความสำคัญ ซึ่งคุณวีนัสเล่าว่า ปีนี้มีหลักสูตรฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนคนพิการและครอบครัว สอนประกอบอาชีพขายอาหารและขนมอบ ให้ผู้พิการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหารและขนมมาถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ผู้รับการอบรมมีแรงบันดาลใจและสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง วางเป้าหมายเบื้องต้น 100 รายในปีนี้
การเดินหน้าโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนับเป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนในองค์กรเสียก่อน จึงจะร่วมกันขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จ
“อุดมการณ์ของเอสซีจีมี 4 ข้อใหญ่ คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ จะใช้คำว่า ESG เพื่อให้เกิดความชัดเจน และถ่ายทอดให้พนักงานรับรู้ เข้าใจ และปฏิบัติก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่ข้างนอก” คุณวีนัส กล่าวถึงความเข้มแข็งจากภายในองค์กร ที่เป็นปัจจัยหลัก ทำให้เอสซีจีรุกโครงการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราเชื่อมั่นว่า องค์กรแต่ละแห่งต่างมีความรู้และความถนัด ที่สามารถถ่ายทอดไปยังสังคมได้ หากเราช่วยกันก็จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และสร้างสังคมที่พึ่งพาตัวเองขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี ทิ้งท้าย