ลาความหลอน! ล้าง ป่าช้า เปลี่ยนที่นอนผี สู่แปลงเกษตรผสมผสานสุดเก๋

ลาความหลอน! ล้าง ป่าช้า เปลี่ยนที่นอนผี สู่แปลงเกษตรผสมผสานสุดเก๋

ป่าช้า เป็น แปลงเกษตร / วันที่ 12 ธ.ค. ชาวบ้านอ้ออีเขียว หมู่ที่ 2 ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พร้อมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าวบนพื้นที่นาขนาด 1 งาน และเต้นรำบาสโลบ ตามแบบฉบับชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ในกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว เผาปลา” ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน โดยพื้นที่นาดังกล่าว คือ ป่าช้าเก่า ที่ชาวบ้านได้ลงความเห็นให้ปรับเปลี่ยนมาเป็นแปลงเกษตรผสมผสาน ให้เป็นซุเปอร์มาเก็ตของชุมชน

นายสุชาติ ชื่นใจ ผู้ใหญ่บ้านอ้ออีเขียว เปิดเผยว่า ในอดีตพื้นที่กว่า 3 ไร่ ของแหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านอ้ออีเขียว เป็นป่าช้าเก่าที่ถูกปล่อยร้างมานาน จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อน ทางวัดอ้ออีเขียวได้ร่วมกับชาวบ้านทำพิธีล้างป่าช้า ต่อมาเมื่อพื้นที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ทำให้มีผู้ลักลอบนำขยะมาทิ้งเป็นประจำ ดูไม่น่ามอง

ตนกับชาวบ้านจึงมีแนวคิดเดียวกันว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในรูปแบบ “โคก หนอง นา” มีการขุดสระน้ำเลี้ยงปลาเบญจพรรณ ขนาด 1 งาน ปลูกป่าชุมชน พืชผักสวนครัว และนาข้าว 1 งาน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านและคนในชุมชนได้เรียนรู้แนวทางการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ส่วนผลผลิตที่ได้ ชาวบ้านสามารถนำมาเก็บไปบริโภคได้ตามความต้องการ แต่จะต้องนำเมล็ดพันธุ์มาปลูกใหม่เพิ่มเติม

สำหรับกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว เผาปลา” เป็นความร่วมมือกันของชาวบ้านและสภาวัฒนธรรมตำบลกรับใหญ่ ที่ต้องการอนุรักษ์การปลูกข้าวแบบดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่วิธีการปลูกข้าวแบบปักดำ ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยวแบบลงแขก นอกจากนั้น ยังได้จับปลานิลในบ่อมาทำปลาเผาสำหรับเลี้ยงชาวบ้านที่เข้าร่วมงาน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนของชุมชนได้เห็นถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิตของบรรพบุรุษ รวมไปถึงการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน

นางรวงเพชร โสดารักษ์ อายุ 54 ปี ชาวบ้าน เปิดเผยว่า ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่ตนจำความได้ จึงทำให้ผูกพันกับอาชีพนี้ ในขณะที่วิถีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรยุคใหม่ เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้ภูมิปัญญา ซึ่งล้วนมีคุณค่าและความหมายแอบแฝงที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระแม่โพสพในช่วงต่างๆ ของการปลูกข้าว

ทั้งนี้ก็เป็นกุศโลบายสอนเรื่องความกตัญญูรู้บุญคุณ ตลอดจนการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่ช่วยสร้างความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน สำหรับข้าวที่นำมาปลูก เป็นข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี 1 สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 20 ถัง โดยผลผลิตทั้งหมดจะถูกแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำไปเป็นพันธุ์ข้าวปลูกต่อไป

ที่มา ข่าวสดออนไลน์