กว่า 10 ปี!! ผู้ปกครองมอบข้าวสารให้รร.บ้านคลองธรรมชาติ สระแก้ว ปีละ 200 ตัน ทำอาหารกลางวัน

กรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วยเมนูขนมจีนคลุกน้ำปลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อโภชนาการและพัฒนาการของเด็ก ขณะที่ส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนอนุบาล-ระดับชั้นป.6 หัวละ 20 บาทต่อวัน เพียงพอกับการจัดหาอาหารให้ครบ 5 หมู่หรือไม่ กรณีดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกิดการตื่นตัวและมีการตรวจสอบโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศว่าเด็กได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่หรือไม่

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 12 มิถุนายน นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย ดร.บัญญัติ เพ็ญจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สระแก้ว เขต 1 นายพีระพงษ์ ไชยทองศรี รองศึกษาธิการจังหวัด (รอง ศธจ.) สระแก้ว เดินทางไปโรงเรียนบ้านคลองธรรมชาติ ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน โดยโรงเรียนบ้านคลองธรรมชาติ มีครู จำนวน 15 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่อนุบาล-ม.3 มีนักเรียนกว่า 200 คน จากการตรวจสอบการจัดอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และเดินดูนักเรียนขณะรับประทานอาหารที่โรงอาหาร วันนี้มีข้าวผัดกะเพราหมู น่องไก่ทอด แตงกวา และเงาะ

นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า วันนี้มาดูที่โรงเรียนบ้านคลองธรรมชาติ เรื่องการจัดอาหารกลางวัน โรงเรียนนี้มีทั้งประถมและมัธยม มาดูว่าสภาพการจัดอาหารเป็นอย่างไรบ้าง และจากการสอบถามย้อนหลัง มีการจัดอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อโภชนาการของเด็ก เมื่อวานมีไข่พะโล้พร้อมเป็ด วันนี้เป็นกะเพราหมู น่องไก่ทอด ผัก เงาะ ดูการจัดอาหารกลางวันแล้วมีคุณภาพ

นายปราโมทย์ อัมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองธรรมชาติ กล่าวว่า โรงเรียนบ้านคลองธรรมชาติ สอนตั้งแต่เด็ก 3 ขวบจนถึง ม.3 ฉะนั้นงบประมาณที่ได้รับ มีถึงป.6 แต่โรงเรียนเรามีถึงม.3 และโรงเรียนได้จัดอาหารกลางวันให้เด็กทุกคนมาเป็น 10 ปีแล้ว โดยทางโรงเรียนมีวิธีการคือ ได้ประชุมชุมชน ผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองช่วยเหลือโรงเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองได้เอาข้าวสารมาให้ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ตัน ดังนั้น ข้าวสารไม่ต้องซื้อ งบประมาณที่ได้รับ เราซื้อหมดต่อวัน เราประชุมผู้ปกครอง ก็แบ่งกันกิน โดยประชุมผู้ปกครอง ผู้ปกครองกินด้วย ให้พี่ให้น้องกิน ก็ไม่ว่าไม่เป็นอะไร นี่คือแนวทางการจัดอาหารกลางวัน ที่เราทำนอกระบบ และเป็นโรงเรียนปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ ฉะนั้นเราจะเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกพืชผัก ทุกอย่างเข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้เด็กอยู่ดี กินดี กระทั่งได้รับรางวัลอาหารกลางวันระดับประเทศ ส่วนอุปสรรคก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ และที่สำคัญที่ทำให้โครงการอาหารกลางวันประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน คือ มีผู้สนับสนุนหลักก็คือผู้ปกครอง ทุกอย่างมีการประชุมประเมินผู้ปกครองทุกปี ปีนี้จะทำอย่างไร ก็มีการวางแผนร่วมกัน ทำมา 13 ปีแล้ว ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมาก

ดร.บัญญัติ เพ็ญจันทร์ ผอ.สพป.สระแก้ว เขต 1 กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการอาหารกลางวัน ที่ประสบความสำเร็จ ทางโรงเรียนจะมีการเลี้ยงปลาปลูกผักเป็นอาหารเสริม ส่วนอาหารกลางวันจะมี 3 ส่วน มีซื้อมาประกอบอาหารบ้าง ซึ่งมี 3 แนวทาง คือ 1. คณะครูจัดทำอาหาร 2. ซื้อมาแล้วจ้างแม่ครัวทำ และ 3. มีการประมูล แม่ค้ามาทำอาหารกลางวัน แต่เท่าที่พบและจากการติดตามส่วนมากเป็นประเภทที่ 2 ซื้อมาแล้วมาจ้างทำอาหาร หรือมีอาสาสมัคร ชาวบ้านมาช่วย การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบ