เฟรนช์ฟรายด์หมึก ธุรกิจของอดีตมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นด้วยคำว่า “เจ๊ง” สู่รายได้หลักแสน ใช้หมึกเดือนละครึ่งตัน

เฟรนช์ฟรายด์หมึก ธุรกิจของอดีตมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นด้วยคำว่า
เฟรนช์ฟรายด์หมึก ธุรกิจของอดีตมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นด้วยคำว่า "เจ๊ง" สู่รายได้หลักแสน ใช้หมึกเดือนละครึ่งตัน

เฟรนช์ฟรายด์หมึก ธุรกิจของอดีตมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นด้วยคำว่า “เจ๊ง” สู่รายได้หลักแสน ใช้หมึกเดือนละครึ่งตัน 

ไอเดียธุรกิจมักเกิดขึ้นจากสิ่งใกล้ตัว หรือเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่นเรื่องราวของ Ifrymuek (ไอฟรายหมึก) ของ คุณปูเค็ม-ธนัยนันท์ สุขเกษมนาคินทร์ เธอได้ไอเดียธุรกิจมาจากการนั่งกินเฟรนช์ฟรายด์และหมึกย่างกับแฟน

แม้ตัวเองจะไม่ชอบกินหมึกย่าง ด้วยรสและกลิ่นที่ไม่ถูกปาก แต่ก็รู้สึกว่า หากได้นำทั้ง 2 อย่างมารวมกันคงจะเข้ากันได้ดี และอาจทำให้คนที่ไม่ชอบอาหารทะเลสามารถกินได้ ซึ่งเมื่อทดลองสูตรก็อร่อยอย่างที่คิด แต่ทว่าหากย้อนไปช่วงปี 2022 เมนูนี้ถือว่าแปลกใหม่ และด้วยไม่มีความรู้เรื่องการตั้งราคา การขายครั้งแรกจึงเริ่มต้นด้วยคำว่า “เจ๊ง”

คุณปูเค็ม-ธนัยนันท์ สุขเกษมนาคินทร์
คุณปูเค็ม-ธนัยนันท์ สุขเกษมนาคินทร์

ก่อนหน้านี้คุณปูเค็มเคยทำงานออฟฟิศ เป็นมนุษย์เงินเดือนที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า ทำให้เธอตัดสินใจลาออกมารักษาตัวกับคุณหมอ จนเมื่อมีไอเดียธุรกิจที่อยากทำ ทำให้อาการของเธอเริ่มดีขึ้น เพราะเหมือนได้กลับมามีไฟในตัวเองอีกครั้ง และอยากลุกขึ้นมาทำแบบจริงๆ จังๆ ดูสักตั้ง

“เรากับแฟนช่วยกันทดลองสูตร ศึกษาจากยูทูบบ้าง กูเกิลบ้าง จดปัญหาทุกอย่างที่เจอแล้วหาคำตอบ จากตอนแรกเอาหมึกมาบดผสมแป้ง ก็เปลี่ยนมาตัดหมึกเป็นเส้นแล้วคลุกแป้ง แต่ทอดครั้งแรกยังไม่สำเร็จหรอก เรามือใหม่กันทั้งคู่ในเรื่องทำอาหาร และตอนนั้นดัดฟันกันทั้งคู่ เราเลยต้องทอดให้กินง่าย ไม่เหนียว คนมีปัญหาเรื่องฟันกินได้ จนได้สูตรที่ลงตัว รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

แต่กินเปล่าๆ ก็รู้สึกมันไม่เวิร์ก เลยลองเอาผงเขย่ามาใส่เพราะตอนนั้นมันกำลังฮิต แต่ลอง 20-30 รสชาติ มันไม่เข้ากับเฟรนช์ฟรายด์หมึกของเรา เลยเปลี่ยนมาทำซอสซิกเนเจอร์แทน” เจ้าของร้าน เล่าถึงที่มา

ไอฟรายหมึก
ไอฟรายหมึก

ขายที่แรก “เจ๊ง”

หลังได้สูตร ไอฟรายหมึกได้เปิดตัวทันทีที่งานงานหนึ่ง ปรากฏว่าลูกค้ายืนยันในความอร่อย แม้จะเป็นเมนูแปลกใหม่ ที่หลายคนไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ส่วนในแง่การเงินเรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีความรู้เรื่องการตั้งราคา

“เรากลับมาตั้งหลักกันใหม่ ตั้งราคาใหม่ให้เราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ หลังจากนั้นก็ปรับสูตรให้มีความเข้มข้นขึ้นอีกหน่อย แล้วหาตลาดเปิดหน้าร้าน จนได้เห็นประกาศให้เช่าพื้นที่ในตลาดแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าเราดันไปเจอมิจฉาชีพ จากที่ขาดทุนตอนแรก มาโดนหลอกอีกครึ่งแสน ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากนะ

เราก็ไม่รู้จะเอายังไงต่อ แรงใจเรามี แต่เงินไม่ไปกับเรา แต่อีกไม่กี่วันตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9 ประกาศมีพื้นที่ให้เช่าโซนใหม่ เงินไม่มีแต่โอกาสมา หรือเราจะรอมีเงินแล้วคว้าโอกาส เราก็มาชั่งน้ำหนัก 2 สิ่งนี้ดู โอกาสน่าจะมีค่ามากกว่า โอกาสทำเงินได้ แต่เงินไม่สามารถซื้อโอกาสได้ เลยฮึดสู้อีกครั้ง ประหยัดทุกอย่างเลย แต่พอเปิดจริง กลุ่มลูกค้าที่มองไว้มันไม่ใช่ แววเจ๊งมาอีกแล้ว เรามองไว้เป็นคนไทยอายุ 30-40 ปี แต่กลายเป็นคนจีนซะส่วนใหญ่ ที่เขารีบกินรีบกลับ

ระหว่างนั้นเราก็เก็บข้อมูลลูกค้านะ กลุ่มคนไทยที่มาซื้อชอบทุกคนเลย ซื้อแล้วซื้อซ้ำภายในวันนั้นหรือภายในอาทิตย์นั้น จนมีโชคดีเข้ามา คุณไพโรจน์ เจ้าของตลาดจ๊อดแฟร์ได้แวะมาทาน เขาแนะนำให้เราไปขายที่จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต แต่ตอนนั้นเขาปิดร้บสมัครร้านค้าแล้ว แต่เขาก็ช่วยให้เราได้ไปขายที่นั่น

เงินก็ไม่มี แต่ผู้ใหญ่ให้โอกาสมาแล้ว เราต้องคว้าไว้ ไม่ควรปฏิเสธ สุดท้ายก็เอาทองที่ซื้อเก็บสมัยทำงานออฟฟิศไปวางกับแม่ เพื่อเอาทุนมาตั้งร้านขายที่จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต และปิดที่พระราม 9 ไป เราก็ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะลูกค้าตรงกลุ่ม เป็นคนไทย 80% เลย”

ไอฟรายหมึก
ไอฟรายหมึก

ใช้หมึกเดือนละครึ่งตัน

เจ้าของร้าน เล่าต่อว่า จุดเด่นของเฟรนช์ฟรายด์หมึก คือความสดของหมึกที่จับจากทะเลแล้วเข้าห้องแช่ในเรือทันที เมื่อนำมาหั่นเป็นเส้นแล้วชุบแป้งทอดจึงได้ความสดใหม่ ไม่มีกลิ่นคาว และแป้งก็บางกรอบสีเหลืองทอง

“เราใช้หมึกกระดองกับหมึกกล้วย แล้วแต่ซัพพลายเออร์หรือชาวประมงที่เราดีลได้ จากอ่าวไทย ระนอง ประมาณนี้ บางทีได้หมึกกระดองมามันไม่พอขายเลยต้องนำมาผสมกับหมึกกล้วย แล้วคลุกแป้งของเรา ฉะนั้น ลูกค้าจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทานคือหมึกอะไร

เราจะหั่นตามบอดี้ของหมึกที่ได้มา บางชิ้นอาจจะมีความยาวเป็นพิเศษ แต่โดยเฉลี่ย 13-14 เซ็นต์ ไม่เกินนี้ ขายราคาไซซ์มินิ 129 บาท ไซซ์บิ๊ก 159 บาท จะพิเศษหน่อยคือแถมหนวดหมึกด้วย สามารถราดซอสพริกซิกเนเจอร์ ซาวครีม ซอสชีส ซอสศรีราชามาโย ซอสบาร์บีคิว ซอสไข่เค็ม ได้เลย และในอนาคตจะมีซอสอื่นๆ ตามมาอีก

ส่วนหน้าร้านปัจจุบันเราได้ปิดสาขาที่จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต แต่ยังมีหน้าร้านที่ตลาดฉำฉา Jazz Green Village คู้บอน-รามอินทรา และตลาดรถไฟศรีนครินทร์ เราใช้หมึกขั้นต่ำประมาณครึ่งตันต่อเดือน ส่วนอีเวนต์ใช้หมึกประมาณ 300 กิโลต่อเดือน แล้วแต่ว่าเดือนนั้นออกอีเวนต์เยอะแค่ไหน ส่วนรายได้ราวๆ 6 หลักต่อเดือน แบบยังไม่หักค่าใช้จ่ายนะ”

ซึ่งถือว่าไอฟรายหมึกใช้หมึกจำนวนมาก และในระยะเวลา 2 ปีที่สร้างแบรนด์มา ก็ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว

“เราเดินเร็วมาก เพราะเราได้กำลังใจจากลูกค้า ลูกค้าที่รักเรารักไอฟรายหมึก ไม่ว่าจะเปิดสาขาไหน เขาก็จะตามไปให้กำลังใจ ลูกค้าน่ารักกับเรามากจริงๆ ถ้าทอดไม่สวย สีอ่อนไป สีเข้มไป เขาก็จะแชทมาบอกทันที เราก็ขอโทษ และพร้อมปรับปรุง หรือในช่วงเทศกาลลูกค้าก็ซื้อของมาให้ทาน มันทำให้เรามีแรงมากๆ ในการพัฒนาธุรกิจ และคิดเสมอว่าไม่สามารถลดคุณภาพสินค้าลงได้เลย”

ไอฟรายหมึก
ไอฟรายหมึก

เชลล์ชวนชิม

และความสำเร็จอีกขั้นของไอฟรายหมึก คือการได้รับเชลล์ชวนชิมในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จากการที่ หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ได้แวะมาชิมที่ร้านตามคำแนะนำของเพื่อน

“เรารู้สึกขอบคุณหม่อมหลวงภาสันต์ ขอบคุณเพื่อนของท่าน เราดีใจมากเพราะรู้สึกว่าการเดินทางของเรามันเหนื่อย แต่คุ้มมาก ไม่คิดว่าเราจะนำพาตัวเองมาได้ถึงจุดนี้ในระยะเวลาอันสั้น เราได้รับโอกาสหลายอย่าง เราคว้ามันไว้และสู้อย่างสุดความสามารถ” คุณปูเค็ม บอกอย่างภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ไอฟรายหมึกมีแพลนเปิดขายแฟรนไชส์ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงพัฒนาระบบ และเก็บปัญหาให้มากพอ เพื่อทำให้ดีที่สุด

และคุณปูเค็มได้ฝากถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากธุรกิจคือ “อย่างแรกคือการให้สิ่งที่ดีกับลูกค้า ให้ความเป็นกันเอง ลูกค้าสามารถบอกเราได้หมด ชอบหรือไม่ชอบอะไร เมื่อเราให้ลูกค้าไปแล้วลูกค้าก็ให้เรากลับ มันคือมิตรภาพ”

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567