บริหารจัดการน้ำ ตามศาสตร์พระราชา “จากภูผาสู่มหานที”

“รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เป็นการสานต่อ 10 ปี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต ขยายผลสำเร็จเห็นจริงที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ทำให้ธรรมชาติฟื้นคืน สร้างอาชีพ ชุมชนเข้มแข็ง โดยน้อมนำพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เกิดเป็นห่วงโซ่ยั่งยืนตลอดเส้นทางน้ำ สร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายทางน้ำที่ดี สร้างสมดุลอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นให้ประเทศไทย

คุณชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า  เอสซีจีได้น้อมนำพระราชดำริ ‘จากภูผา สู่มหานที’ มาเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง โดยสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ แก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเห็นผลจริง

สำหรับการสร้างฝายชะลอน้ำเอสซีจีได้ร่วมกับชุมชน ภาครัฐ และเอกชน สร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำมานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มที่ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ จากนั้นขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ โดยสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 75,500 ฝาย มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 87,000 คน โดยตั้งเป้าขยายการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และจะสร้างให้ครบ 100,000 ฝาย ภายในปี 2020

ด้านคุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ เผยว่า บ้านสาแพะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พื้นที่แห้งแล้งการสร้างสระพวงในพื้นที่เชิงเขา ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร การขุดสระเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สระแม่ขนาดใหญ่ ไปสู่สระลูก และสระหลาน ตามระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรมได้ตลอดปี ยิ่งชุมชนปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาเป็นการเกษตรปราณีตแบบใช้น้ำน้อย ยิ่งช่วยให้ชุมชนสร้างรายได้ได้มากขึ้น จุดเด่นของสระพวง คือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการเสียสละที่ทำกินบางส่วน ยอมแบ่งที่ดินของตนเองมาใช้เป็นพื้นที่ขุดสระพวงเพื่อใช้น้ำร่วมกัน

ปัจจุบันบ้านสาแพะ มีสระพวง 7 สระ  ทำให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี 30,400 ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกร 100,000 บาทต่อปีต่อราย เกิดรายได้รวมในชุมชนปี 2560 ได้มากถึง 18 ล้านบาท

ทั้งนี้ บ้านสาแพะใช้ “นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต” ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์และเทคโนโลยีใยสังเคราะห์ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถปรับรูปแบบได้ตามความต้องการใช้งาน มาใช้สร้างสระพวง เนื่องจากพื้นที่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ