ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 24 ม.ค. นางมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าวจ.พิจิตร เปิดเผยว่า เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่พึ่งประกาศไปนั้น คาดคะเนว่าจะไม่กระทบกับโรงสี เพราะค่าแรงของคนงานต่างๆ สูงอยู่แล้วโดยเฉพาะช่าง หรือวิศวกร เพราะที่ผ่านมาจ้างวันละ 500 บาท/คน/วัน และไม่ต่ำกว่า 450 บาท/คน/วัน แต่จะมีผลกระทบบ้าง ก็เป็นในเรื่องของผู้ใช้แรงงานแบกหาม ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร จึงไม่ได้รับผลกระทบเหมือนผู้ประกอบการ ที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งทางโรงสีก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว
นางมิ่งขวัญ กล่าวอีกว่า ราคาข้าวจังหวัดพิจิตรขณะนี้เริ่มดีแล้วกระเตื้องขึ้น ตกตันละ 7,000 บาท ชาวนาพอใจ แต่จ.พิจิตร มีชาวนาบางคนไม่พอใจในเรื่องราคาข้าว ในส่วนนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่ ส่วนราคาข้าวหอมมะลิอยู่ 10,000 บาท
ด้าน นายปรีชา แสงบุญ อายุ 60 ปี เกษตรกรชาวนา ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นผู้ควบคุมกำกับนโยบายเรื่องการค้าทุกอย่างในประเทศไทย ควรปรับปรุงเรื่องราคาข้าวให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบ้าง ควรจะเพิ่มราคารับซื้อมากขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับโรงงาน และทุกส่วนราชการ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ช่วงนี้ได้รับความลำบาก เพราะการทำนาปี จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงแค่ครั้งเดียว
นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มายังถือว่าราคาสูงกว่า โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ตลาดโลก ยังมีความต้องการจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในปีนี้ขยับสูงขึ้นต่อไปอีก และคงไม่มีราคาที่ต่ำอย่างแน่นอน
นายบรรจง กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ ราคาข้าวหอมมะลินั้น ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวราคาข้าวหอมมะลินั้นสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาประมาณตันละ 3,000-4,000 บาท เกษตรกรได้รับค่าตอบแทนถึงตันละ 10,000-11,000 บาท และราคายังคงสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรนั้นได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มทุน ถือว่าภาครัฐยังประสบผลสำเร็จอยู่ ในส่วนของข้าวเจ้า ปีนี้ราคาก็ยังสูงกว่าเดิมประมาณตันละ 500-600 บาท เนื่องจากช่วง 2 เดือนนี้ ออร์เดอร์จากจีน ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ กำลังจะมีการสั่งเข้ามา และคาดการณ์ว่าราคาข้าวเจ้าจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะสต๊อกข้าวของภาครัฐใกล้จะหมดแล้ว ทำให้เกิดการถ่วงดุลของราคาข้าวเกิดขึ้นซึ่งทำให้ภาพรวมของข้าวนั้นดีขึ้นทุกชนิด และโอกาสที่ราคาข้าวจะตกต่ำลงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่มีเลย และในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่พ่อค้าจะเริ่มกักตุนข้าวสารเพื่อแข่งกับสต๊อกของรัฐบาล ทำให้เกิดแนวโน้มเป็นแนวบวก ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 7-8% ก็ตาม