คลังแจงดึงเงินฝากค้างบัญชี 10 ปี เข้าเงินคงคลังไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ ขอคืนได้ตลอดเวลา

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจาก สศค. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.Dormant Account) จนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 ก่อนจะสรุปและส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.Dormant Account โดยกระทรวงการคลังจะนำเงินฝากทุกประเภทในบัญชีของประชาชนที่มีเงินในบัญชีเกิน 2,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 10,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการ โดยเจ้าของบัญชีหรือทายาทสามารถหลักฐานมารับเงินคืนได้ในอนาคต ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระบบสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลเงินฝากในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมากกว่า 10 ปีขึ้นไปแทนสถาบันการเงิน

“ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาในการนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการสาธารณะประโยชน์ หรือ เก็บไว้เป็นเงินแผ่นดิน แต่เป็นการดำเนินการเพื่อเก็บรักษาให้กับประชาชน ซึ่งสามารถมาขอเงินคืนได้ตลอดเวลา และในอนาคตอาจมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ. เพื่อให้นำเงินไปใช้ในสาธารณะประโยชน์ได้ เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลเกิน 10 ปี หากไม่มีการไถ่ถอนคืนก็จะถูกยึดเป็นรายได้แผ่นดินทันที”

นายสุวิชญ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นเจตนาดีที่ต้องการดูแลและบริหารจัดการเงินฝากให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และลดการบริหารจัดการเงินฝากของสถาบันการเงินด้วย เพราะการรับฝากเงินที่ไม่มีการเคลื่อนไหวจะต้องมีค่าบริหารจัดการ แต่หากเรียกเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหวเกิน 10 ปีมาไว้กับกระทรวงการคลัง จะไม่มีค่าบริหารจัดการแต่อย่างใด รวมทั้งลดภาระที่สถาบันการเงินจะต้องนำส่งเงินเข้าสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝากด้วย