คมนาคมดึง 4 รถไฟฟ้าใช้”ตั๋วแมงมุม” บัตรใบเดียวนั่งได้ทุกระบบ

คมนาคมเร่งเครื่องระบบตั๋วร่วมแมงมุม หลังดีเลย์ 2 ปี ดึง “รฟม.-กรุงไทย” ประเดิม หลัง BTS-BEM เตะถ่วง ตั้งเป้า ม.ค.-ก.พ.ปี”60 เริ่มใช้รถไฟฟ้า 4 สาย “บีทีเอส-ใต้ดิน-แอร์พอร์ตลิงก์-สีม่วง” นั่งสะดวกด้วยบัตรใบเดียว จับตาเอกชนยื่นข้อเสนอให้รัฐอุดหนุนรายได้ แลกลดค่าโดยสาร

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังเร่งผลักดันระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมใช้บริการโดยเร็ว จะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดตั้งหน่วยธุรกิจมาบริหารจัดการรายได้กลาง (CTC) เป็นการชั่วคราว ช่วงรอกระบวนการจัดหาบริษัทมาดำเนินการ ซึ่งภายในเดือน ก.ย.นี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการดำเนินงานตั๋วร่วม 3 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างระบบตั๋ว การจัดตั้งบริษัท CTC ในรูปแบบร่วมทุน (PPP) การยกร่าง พ.ร.บ.ระบบตั๋วร่วม

ดีเดย์ ม.ค.-ก.พ.ปีหน้า

“ม.ค.-ก.พ.ปี′60 จะใช้ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ บีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีม่วง ซึ่งผู้ถือบัตรโดยสารใบเดียวจะเดินทางได้หลายระบบด้วยตั๋วใบเดียว มี รฟม.เป็นผู้บริหารจัดการ จะหารือกับเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สาย จะมอบส่วนลดค่าแรกเข้าหรือค่าโดยสารในลักษณะค่าโดยสารร่วมกันได้หรือไม่”

สำหรับการตั้งบริษัทกลาง รัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดตั้งบริษัท ตั๋วร่วม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาตั๋วร่วม โดยสัดส่วนการถือหุ้นเนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน ทางภาครัฐจะถือหุ้นไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือจะเป็นเอกชนซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 4 สาย อาจจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเข้ามาร่วมในบริษัทก็ได้

ต.ค.เชื่อมทางด่วน-มอเตอร์เวย์

นอกจากนี้กระทรวงยังเร่งรัดให้มีการเชื่อมระบบบัตรEasyPassของระบบทางด่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กับบัตรMpassใช้ในมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง(ทล.) จะเริ่มทดสอบระบบร่วมกันเดือน ก.ย. และสามารถเปิดให้บริการเดือน ต.ค.นี้

นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.การนำระบบตั๋วร่วมใช้ในระยะเริ่มต้น จะมี สนข. รฟม.และธนาคารกรุงไทยมาร่วมดำเนินการ จนกว่าจะตั้งบริษัทตั๋วร่วมเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี โดยเจรจาผู้ประกอบการรถไฟฟ้า 4 สาย คือ บีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ ปรับปรุงระบบให้รองรับตั๋วร่วมได้ ให้เอกชนออกค่าใช้จ่ายไปก่อน เมื่อบริษัทตั๋วร่วมจัดตั้งเสร็จแล้ว จะชำระคืนภายหลังตามรูปแบบที่ตกลงกัน เช่น แปลงเป็นทุน เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเดือน ก.ย.นี้

ใช้ร่วมรถไฟฟ้า 4 สาย

“การใช้ระยะเริ่มต้นจะเริ่มได้ 6-7 เดือนนับจากนี้ เป็นลักษณะตั๋วร่วม คือเป็นตั๋วที่ใช้ต่ออย่างเดียว ตามอัตราค่าโดยสารเดิม ของรถไฟฟ้า 4 สาย อาจจะมีทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่ใช้ร่วมได้ หากปรับปรุงระบบเสร็จ รวมถึงร้านค้าสะดวกซื้อ แบงก์และบริษัทมือถือที่จะเข้าร่วมด้วย หากเจรจากันได้เร็วก็สามารถใช้ร่วมกันได้เลย ส่วนการใช้ค่าโดยสารร่วมจะเป็นในขั้นตอนต่อไปหลังจัดตั้งบริษัทตั๋วร่วมเสร็จ”

2.เร่งร่าง พ.ร.บ.ระบบตั๋วร่วมให้เสร็จโดยเร็วพร้อมกับการใช้ระบบในปี 2560 3.ตั้งบริษัทตั๋วร่วมมาบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมในระยะยาว โดยให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Fast Track จะใช้เวลา 9 เดือน หรือแล้วเสร็จในปี 2560 และ 4.การจัดทำอัตราค่าโดยสารร่วม และค่าฟีต่าง ๆ

“บริษัทกลางที่เอกชนร่วมลงทุนจะใช้เงินทุนเริ่มต้น 600 ล้านบาท ดูเรื่องการจัดการค่าใช้บริการแต่ละระบบ ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเงิน แบ่งสรรเงินให้กับระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ จะมีรายได้จากการคิดค่าฟี โดยรัฐจะให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 15-20 ปี ส่วนกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ควบคุมค่าฟีจะไม่ให้เกิน 1.5% ของค่าขนส่งและกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร จะมี 4 รูปแบบ คือ 1.คิดอัตราเดียว เช่น 20 บาท 30 บาท 40 บาท 2.เก็บตามระยะทาง โดยคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว 3.เก็บตามระยะทาง ลดค่าแรกเข้าครั้งที่ 2 เช่น 10-30% อยู่ที่นโยบายรัฐบาล และ 4.คิดตามโซนพื้นที่ ยังไม่ได้ข้อสรุป จะเป็นรูปแบบไหนอยู่ที่นโยบายของภาครัฐ คาดว่าจะมีคนใช้บัตรตั๋วร่วมแมงมุม 20-30% ของทั้งระบบมีผู้โดยสาร 1 ล้านเที่ยวคน/วัน”

untitled

BTS-BEM ชิงโต้โผ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ระบบตั๋วร่วมเตรียมจะเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบันยังล่าช้าอยู่ 2 ปี เนื่องจากเป็นระบบใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับระบบนโยบายไม่มีการฟันธงว่าจะเดินหน้าไปในรูปแบบไหน นอกจากนี้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้า คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ต่างมีความต้องการจะเป็นโต้โผในการจัดตั้งบริษัท จนทำให้ทุกอย่างล่าช้า แต่ขณะนี้มีนโยบายลงมาชัดเจนแล้วว่าทุกอย่างจะต้องให้เสร็จโดยเร็ว

“ส่วนค่าโดยสารร่วมอาจจะเป็นเรื่องยากเพราะยังติดสัญญาของผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้ารายเดิมคือบีทีเอสบีอีเอ็มและแอร์พอร์ตลิงก์ในเรื่องการคำนวณรายได้หากจะใช้ค่าโดยสารร่วมกันต้องแก้สัญญาใหม่และรัฐจะต้องซัพพอร์ตบางส่วนให้แต่หากเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ต่อไปจะระบุไว้ในสัญญาสัมปทานว่าจะต้องเข้าระบบตั๋วร่วมเช่น สายสีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวต่อขยาย สีชมพู สีเหลือง”

ค่าโดยสารร่วมรัฐต้องอุดหนุน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ระบบตั๋วร่วมจะเริ่มใช้นี้ เป็นตั๋วที่ทำให้การเดินทางสะดวกด้วยตั๋วใบเดียว ส่วนอัตราค่าโดยสารร่วมนั้น อาจจะต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน ซึ่งรัฐจะต้องอุดหนุนหรือหาวิธีการยังไงถึงทำให้ win-win ทั้งรัฐ เอกชน และผู้โดยสาร