ผู้ปกครองอ่วม! ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมพุ่ง 50,196 ล้าน สูงสุดรอบ 7 ปี

ผู้ปกครองอ่วม! ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมพุ่ง 50,196 ล้านบาท สูงสุดรอบ 7 ปี พร้อมฟันธงภาพรวมเศรษฐกิจไทยโต 3.6% คาดอานิสงส์โครงการ EEC ภาครัฐ การลงทุน-การส่งออกฟื้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,202  ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-9 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาพบว่า การใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50,196 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดจากปี 2553 ที่หอการค้าทำการสำรวจมาอยู่ที่ 38,377 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมเพิ่มมากขึ้น แต่ขยายตัวไม่มากอยู่ที่ 2.14% ดังนั้น จากการสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ยังมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการเรียนของนักเรียนแต่อย่างไร

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจค่าใช้จ่ายและการเรียนในช่วงเปิดเทอมว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 75.3% ไม่มีรายได้จากอาชีพเสริม และหนี้ของผู้ปกครองที่เกิดขึ้น 84.3% มาจาก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการซื้อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ช่วงเปิดเทอมสิ่งที่ผู้ปกครองต้องซื้ออันดับ 1 ยังเป็นในเรื่องของชุดนักเรียน รองลงมา รองเท้า ถุงเท้านักเรียน และหนังสือเรียน โดยเฉลี่ยนโดยรวมเกิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,295 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 35.6%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบจำนวนชิ้นที่ซื้อในช่วงเปิดเทอม 43.6% ยังคงเท่าเดิม ขณะที่ผู้ปกครองมีทัศนะคตินต่อราคาสินค้า  เช่น  ค่าหนังสือ  แพงขึ้น  44.8%  ค่ารองเท้า ถุงเท้า แพงขึ้น 41.1% และค่าเสื้อผ้า แพงขึ้น 40.9% และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมถึง 53.1% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 51.3% ส่งผลให้ผู้ปกครองจำนำทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 27.9% กู้เงินในระบบ เพิ่มขึ้น 18.3% และเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 16.8% เพื่อนำมากใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของนักเรียน

ส่วนทรรศนะระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา 46.0% ยังมองว่าก่ารศึกษาไทยดีขึ้น แต่ 20.0% มองว่าไม่มีความแตกต่าง และ 16.3% มองว่าการศึกษาแย่ลง โดยต้องการให้มีการปรับปรุงด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษาอังกฤษ ด้านวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียน และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพการศึกาษเท่าเทียมกันหรือไม่ส่วนใหญ่ 68.8% ยังมองว่าเท่าเทียมกัน

ส่วนในเรื่องของโครงการเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อการศึกษา 37.9% ยังมองว่ามีความสำคัญอยู่มาก ขณะที่ 37.8% เห็นด้วยปานกลางที่จะฟ้องนักเรียนที่กู้เงินและไม่ยอมจ่ายเงินคืนตามกำหนด อย่างไรก็ดี หอการค้ามองว่าสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านการศึกษา คือ ให้ความสำคัญกับทุนการศึกษา หรือค่าเล่าเรียน การพัฒนาหลักศูตรให้มีความทันสมัย เพิ่มจำนวนบุคลากร ป้องกันและตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดทุจริต คอร์รัปชั่น พัฒนาระบบการเรียน การสอน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 คาดขยายตัวอยู่ที่ 3.6% หรืออยู่ในกรอบ 3.1-4.1% โดยยังเป็นการคงตัวเลขไม่ได้มีการปรับลดลง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมองภาพการส่งออกของไทยยังดีขึ้น เห็นจากการส่งออกรถยนต์ขยายตัว ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐ การผลักดันนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) การโอนเงินของภาครัฐลงในภูมิภาคให้กับภาคประชาชน คนชราตามโครงการต่างๆ ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหอการค้าไทยคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2560 จากเดิมอยู่ที่ 1.4% ปรับมาอยู่ที่ 2.8% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากตลาดยุโรปมองเศรษฐกิจดีขึ้นมาผลต่อการนำเข้าสินค้า และไทยได้ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้จะเห็นตัวเลขการส่งออกเป็นบวกในรอบ 4 ปี การนำเข้าสินค้าจากเดิมอยู่ที่  2.5% ปรับมาอยู่ที่ 3.2% และอัตราเงินเฟ้อจากเดิมอยู่ที่ 1.6% ปรับมาอยู่ที่ 1.5% ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ เพราะยังมองว่าราคาน้ำมันยังไม่ปรับสูงขึ้น

“จากโครงการ EEC ที่ภาครัฐผลักดัน ก่อให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย 1,500-3,000 บาทต่อเดือน การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าเกษตร รายได้ของเกษตรกร ส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงรายได้ และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 32  ล้านคนปี นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 35 ล้านคน โดยปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย”

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ ราคาสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอาจจะไม่ได้ปรับตัวสูง ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนในส่วนภูมิภาคไม่คึกคักอย่างที่ควร แต่คาดการณ์ว่าน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าช่วงไตรมาส 4 จะปรับตัวดีขึ้น