ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “คุณภาพชีวิตแรงงานไทย” 1,250 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของการทำงานในด้านต่างๆ และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย พบว่า ผู้ใช้แรงงาน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตการทำงานเท่ากับ 7.41 ด้านที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุดคือ ด้านเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมอาชีพ 7.88 รองลงมา ด้านลักษณะงานที่ทำ ตรงกับความต้องการ 7.73 ด้านสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ (สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ) 7.53 ด้านผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน (หรือผู้มารับบริการ กรณีทำอาชีพอิสระรับจ้าง) 7.40 ด้านความสมดุลระหว่าง การทำงาน การพักผ่อน และชีวิตส่วนตัว 7.38 ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ (เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา สิทธิประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ) 7.06 และด้านความมั่งคง โอกาส และความก้าวหน้าในอาชีพ 6.89
สำหรับความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในภาพรวมของการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า ผู้ใช้แรงงาน 34.08% ระบุว่า ดีขึ้น 42.24% เหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง และ 23.68% แย่ลง ด้านความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยในปัจจุบัน ภายหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ปี 2558 พบว่า ผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ 39.04% ระบุว่า ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก รองลงมา 28.40% แรงงานไทยถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวในแถบอาเซียนเพิ่มมากขึ้น 15.76% แรงงานไทยไม่ได้รับการพัฒนา ขาดการเอาใจใส่ หรือให้ความสำคัญ 8.80% แรงงานไทยได้รับการพัฒนาด้านภาษา ฝีมือ ทักษะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน 6.08% ระบุว่า แรงงานไทยมีโอกาสได้ไปทำงานในแถบประเทศอาเซียนมากขึ้น 0.64% งานหายากมากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของแรงงานต่างด้าว และค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า แรงงานไทยมีความมั่นคงและสวัสดิการที่ดีขึ้น และได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ 1.28% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 50% ระบุว่า ควรพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รองลงมา 42.08% ควรหมั่นตรวจสอบ ควบคุม ดูแล บริษัท ผู้ประกอบการ นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน หรือเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ 39.52% ควรปรับปรุง หรือแก้ไขข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สิทธิ สวัสดิการต่างๆ ที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน 34.24% ควรส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านความรู้ ฝีมือ ให้กับแรงงานไทย 32.64% ควรเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมการมีงานทำ การจัดหางาน การออกบูธประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน 26.24% ควรเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว 1.20% อื่นๆ ได้แก่ ควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ลดค่าครองชีพ เร่งจัดหาแหล่งที่ดินทำกินให้กับผู้ที่ไม่มีอาชีพ ควรมีการช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ปลดเกษียณหรือมีรายได้น้อย และควรกระจายแรงงานไปยังภูมิภาคต่างๆ