ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟฟ้ารวมค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) และผลกระทบต่อราคาจำหน่ายปลีกสินค้า ว่า การที่ปรับค่าเอฟทีขึ้นหน่วยละ 12.52 สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโดยรวมเพียง 0.0002-0.2660% โดยกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบมากสุด แต่มีผลเพียง 0.014-0.266% ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม มีผลเพียง 0.004-0.158%
และกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน มีผลเพียง 0.003-0.189% ซึ่งรวมแล้วไม่ถึง 1% จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะอ้างขอปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผู้ประกอบการายใดขอปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นราคาค่าครองชีพจึงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติจนน่ากังวล และยืนยันว่ากรมการค้าภายในมีมาตรการดูแลราคาสินค้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและพร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลโดยเฉพาะชุดนักเรียนซึ่งอาจมีผู้ประกอบการฉวยโอกาส ขึ้นราคาในช่วงเปิดภาคเรียนนี้
“ค่าเอฟที นั้นมีการปรับลดลงตั้งแต่เดือนก.ย. 2558 จนถึงปัจจุบันคือ เม.ย.2560 ลดลงรวม 37.29 สตางค์ และตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ให้ข่าวว่าจะปรับค่าเอฟที หน่วยละ 12.52 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้ารวมหน่วยละ 3.5079 บาท หรือเพิ่มขึ้นหน่วยละ 12.52 สตางค์ ซึ่งแทบไม่มีผลอะไรกับราคาสินค้าและขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอปรับขึ้นราคาสินค้า”
นอกจากนี้ ยังได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าภายในประเทศ ทั้งกลุ่มอาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งพบว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงปกติ ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก โดยราคาอาหารสด อย่าง ผักสด และเนื้อสัตว์ หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาจมีการปรับขึ้นบ้างเล็กน้อย ซึ่งราคาเนื้อหมูขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 135-140 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาทจากเดือนก่อนหน้า แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 150-155 บาท ต่อกิโลกรัม เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้น และเป็นช่วงฤดูกาล จึงถือว่าไม่น่ากังวล และภาวะค่าครองชีพของไทยไม่ได้สูงจนเป็นที่น่ากังวล
นางนันทวัลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่การออกมาเรียกร้องให้พิจารณาระงับการนำเข้าข้าวสาลี ว่า กรมพิจารณาแล้วเห็นว่าจะยังให้มีการนำเข้าต่อไป เพราะปริมาณการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แม้ว่าไทยจะผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 4 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้มากถึง 8 ล้านตัน และการนำเข้าข้าวสาลีก็เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมตามสูตรของอาหารสัตว์ไม่สามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศชดเชยได้ และแม้ว่าจะมีผลผลิตจะมีในไทยบ้างแต่ก็ไม่เพียงพอและต้นทุนก็สูงหากไม่มีการนำเข้าก็จะส่งผลให้ต้นทุนปศุสัตว์ที่ส่วนมากผลิตเพื่อส่งออกสูงขึ้นด้วย อาจทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์