นักเรียน บ้านคะปวง ปลูกผักปลอดสารพิษ กินเอง-ขายเอง จากครัวโรงเรียน สู่ บ้าน-ชุมชน

ที่ โรงเรียนบ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เด็กนักเรียนช่วยกันเก็บพืชผักสวนครัวที่ปลูก เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน ตามโครงการ ส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนบ้านคะปวง ซึ่งทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัต กรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนโรงเรียนบ้านคะปวงได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องความสำคัญของการบริโภคผักและผลไม้ การปลูกพืชผักสวนครัว การลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปประกอบอาหารกลางวันและสร้างรายได้ให้กับนักเรียน จากรั้วโรงเรียนสู่ครอบครัว โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถม ศึกษาปีที่ 4-5-6 ซึ่งเป็นแกนนำในการร่วมกันปลูกพืชผักปลอดสารพิษ อาทิเช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักชี ถั่วฝักยาว ผลไม้ อาทิเช่น แก้วมังกร สับปะรด เป็นต้น ซึ่งเด็กแต่ละคนจะจับคู่กันในการเริ่มการทำแปลงเพาะปลูก การว่าน การปลูก และ การดูแลผลผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายให้กับโรงเรียนเพื่อเข้าสู่ โครงการอาหารกลางวัน

นายจรัญ บุญลือ ครูผู้ควบคุมโครงการฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนบ้านคะปวง ภาพรวม โดยใช้โปรแกรมแปลผลภาวะโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ส่วนใหญ่กว่า 82% น้ำหนักและส่วนสูงสมส่วน แต่ก็มีภาวะโภชนาเกิน และทุพโภชนาการ อยู่จำนวนหนึ่ง จากการแปลผลภาวะโภชนาการพบว่าร่างกายสมส่วนเป็นส่วนมาก ถือเป็นความสำเร็จในการจัดการอาหาร และความไม่สำเร็จของการจัดการอาหารคือ นักเรียนอนุบาลและนักเรียนประถมศึกษาบางคนไม่ชอบกินผัก และชอบบริโภคขนมและน้ำหวาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัตถุดิบในการประกอบอาหารไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผักและเนื้อสัตว์ได้ เนื่องมาจากการซื้อเอาจากในตลาด ทำให้ไม่ทราบแหล่งผลิต และวิธีการผลิตโดยใช้สารเคมีหรือไม่ ทำให้การบริโภคผักไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้โรงเรียนบ้านคะปวงได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากการบริโภค อาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการของนักเรียนจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการบริโภค ผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีของนักเรียน รวมถึงการ สร้างประสบการณ์เรียนรู้เด็กนักเรียนได้มีทักษะเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการ ดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

“ผัก ที่ปลูกทางโรงเรียนเน้นผักพื้นบ้าน เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักชี ถั่วฝักยาว มะเขือ กระเพรา โหรพา ผลไม้ก็จะเป็นสับปะรด แก้วมังกร ฝรั่ง ซึ่งนักเรียนในแต่ระดับชั้นก็จะทำการแบ่งกลุ่มจับคู่กันลงแปลงปลูกผัก ดูแลผลผลิต จนกระทั้งเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน โดยแม่ครัวจะทำรายการอาหารให้สอดคล้องกับผลผลิตทางเกษตรของโรงเรียน ถ้ามากจนเหลือ ก็นำออกขายสู่ชุมชน ซึ่งเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5-6 ทุกคนจะต้องผ่านการเรียนรู้ทั้งทางด้านทักษะวิชาการ การปฏิบัติภาคสนาม ด้านการปลูกผัก การเตรียมดิน การดูแลแปลงผัก การเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งทุกคนสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปปรับใช้ที่บ้าน จนสามารถมีแปลงปลูกผักและมีพืชผักไว้กินและเหลือจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับ ครอบครัว”นายจรัญ กล่าว