คนไตเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ อภัยภูเบศร แนะหลีกเลี่ยงซื้อสมุนไพรกินเอง

คนไตเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชฯ อภัยภูเบศร แนะหลีกเลี่ยงซื้อสมุนไพรกินเอง

จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อก (TikTok) รายหนึ่ง ระบุถึงการใช้ยาสมุนไพรว่า จะทำให้ไตทำงานหนักอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้นั้น

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านสมุนไพรทั้งจากการรวบรวมภูมิปัญญาการใช้จากหมอพื้นบ้าน คนในท้องถิ่น  ทำงานในสถานพยาบาลและกับหน่วยงานในต่างประเทศ  มากกว่า 20 ปี ทำให้เข้าใจการใช้สมุนไพรที่แตกต่างไปจากมุมมองของแผนปัจจุบัน

กล่าวคือ “สมุนไพร” เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของคนท้องถิ่น ที่มีการใช้ได้หลากหลายทั้งการใช้ชิ้นส่วนพืชแบบสด แบบแห้ง  หรือใช้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งต้ม ฝน ปั้นเป็นเม็ด ปัจจุบันก็มีแบบแคปซูล รวมถึงใช้ได้ทั้งเป็นอาหาร แบบกินให้อร่อย กินเพื่อบำรุงร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ ให้แข็งแรง หรือกินเพื่อเป็นยารักษาความเจ็บป่วย ซึ่งต่างจากมุมของแผนปัจจุบันจะมองถึงการกินเป็นเม็ดๆ ขนาดการกินชัดเจน เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่ง

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพนี้ไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น หากแต่หลายประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ชนกลุ่มน้อยในทวีปอเมริกาเหนือก็มีองค์ความรู้เหล่านี้ ตัวอย่างที่อยากจะยกให้เห็นคือ หญ้าหนวดแมว ที่มีคนออกมาพูดว่ากินมากแล้วไตจะวาย ในวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนหญ้าหนวดแมวในปริมาณน้อยๆ ก็นำมาต้มกิน

เพื่อทำความสะอาดทางเดินปัสสาวะ กินบ้างลืมบ้าง ซึ่งในอินโดนีเซียก็มีการใช้หญ้าหนวดแมว ภายหลังที่มีชาติตะวันตกที่มาล่าอาณานิคมเห็นประโยชน์ก็นำกลับไปใช้ จนปัจจุบันหญ้าหนวดแมวบรรจุในตำรายาของเยอรมนีที่เรียกว่า Commission E ในนามของ Java Tea หรือชาที่มาจากชวา

“ดังนั้น ท่านที่มีการทำงานของไตที่ดี หรือมีค่าการกรองของไตมากกว่า 60 mL/min/1.73m2  หากใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้รับรองอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ปลอดภัย เพราะก็มีรายงานในต่างประเทศเรื่องการปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สมุนไพรแล้วทำให้เกิดไตวาย ดังนั้น สมุนไพรเกษตรอินทรีย์ หรือการปลูกใช้เองก็เป็นทางเลือกที่ดี” ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ถ้าต้องการให้สุขภาพแข็งแรงการกินแบบอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ปลอดภัย ไม่กินเข้มข้น หรือในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เพราะในสมุนไพรรวมถึงพืชบางชนิดก็มีสารที่ทำให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากกินในปริมาณสูง เช่น สมุนไพรที่มีออกซาเลตสูง  เช่น มะเฟือง ตะลิงปลิง มันสำปะหลัง ผักโขม โกฐน้ำเต้า บีทรูท เผือก ผักแพว ปวยเล้ง

ซึ่งการปรุงผ่านความร้อนจะช่วยลดปริมาณกรดออกซาเลตได้ การกินดิบไม่ผ่านความร้อน สามารถจับกับแคลเซียมจากอาหาร ทำให้เกิดนิ่วในไตได้  หรือแม้กระทั่งการการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง ก็มีรายงานการทำให้เกิดนิ่วออกซาเลตในไตได้เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งลูกเนียง กินปริมาณมากๆ “กรดแจงโคลิก” ในลูกเนียงก็อาจตกตะกอนและอุดตันในท่อไตจนถึงขั้นทำให้ไตวายเฉียบพลันได้

ดังนั้น ทุกอย่างต้องอยู่บนความพอดี ส่วนกรณีของ “ไคร้เครือ” ที่มี กรดเอริสโทโลคิก ทำให้เกิดภาวะไตอักเสบ ซึ่งไคร้เครือเอง ก็เคยเป็นส่วนประกอบในยาไทยหลายตำรับ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ให้ผู้ผลิตยาถอดไคร้เครืออกจากตำรับแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาตำรับแผนไทย ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องไคร้เครืออีกต่อไป

สิ่งที่ประชาชนต้องรู้อีกอย่างคือ ไม่ใช่แค่เพียงสมุนไพร อาหารหรือยาแผนปัจจุบันเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต แต่โรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ก็ส่งผลต่อการทำงานของไตได้  ดังนั้น ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถึงแม้ค่าไตจะดีก็ต้องหมั่นตรวจติดตามเสมอ

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้ที่มีการทำงานของไตที่ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานเอง หรือมีความจำเป็นต้องรับประทานจริงๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เพื่อช่วยพิจารณาว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ เพราะมีประเด็นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจส่งผลให้ไตทำงานแย่ลงได้

โดยเฉพาะเรื่องของยาตีกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคไตวายจะได้รับวิตามิน หรือเกลือแร่เสริมจากแพทย์ ซึ่งหากผลิตภัณฑ์หรือสมุนไพรที่ใช้มีส่วนประกอบของเกลือแร่ผสมอยู่ในปริมาณสูง ก็อาจทำให้เกลือแร่ชนิดนั้นๆ ในร่างกายสูงขึ้นได้ และอาจเสี่ยงต่อการทำงานของไตที่มากขึ้นด้วย

ในผู้ป่วยไตวายระยะท้าย ต้องระวังการกินผลไม้ หรือสมุนไพรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม สับปะรด นํ้าลูกยอ หญ้าหนวดแมว หญ้าดอกขาว ใบขี้เหล็ก และผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการแสดงของโรคไตเรื้อรัง เช่น ขาหรือเท้าบวม ปัสสาวะออกลดลง แพทย์จะจ่ายยากลุ่มขับปัสสาวะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะร่วมกัน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำจนนำไปสู่ไตวายเฉียบพลันได้ เช่น หญ้าไผ่นํ้า หญ้าพันงู รากหญ้าคา

นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีภาวะไตเสื่อม ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติที่พบได้นั้น เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุของเราที่เพิ่มขึ้น ไตก็เช่นเดียวกัน ซึ่งปกติแล้วอัตราการกรองของเสียที่ไต ลดลงในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี หลังอายุ 30 ปี ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยไม่จำเป็นต้องรักษา หรือใช้ยาใดๆ

เพราะการทำงานที่ลดลงเป็นไปอย่างช้าๆ จนไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายโดยรวม ผู้สูงอายุควรหันไปใส่ใจเรื่องการกินอาหาร ลดการกินเค็ม หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาชุด หรือยาสมุนไพรกินเอง ในส่วนของสมุนไพร ก็เลือกกินเป็นส่วนผสมของอาหาร กินบ้างหยุดบ้างหมุนเวียนกันไป ในปริมาณปกติเหมือนคนทั่วไปกินสามารถทำได้ แต่ไม่ควรกินอะไรเป็นประจำ ไม่ต้มเคี่ยว ดื่มต่างน้ำ ขนาดและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมควรปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ