ลด ละ เลิก ขยะอาหาร กันเถอะ พบสถิติน่าตกใจ ข้าว เหลือทิ้งมากที่สุด

ลด ละ เลิก ขยะอาหาร กันเถอะ พบสถิติน่าตกใจ ข้าว เหลือทิ้งมากที่สุด

เคยสังเกตไหมครับ เวลาเราไปกินอาหารกับครอบครัวกับเพื่อนตามร้านอาหาร ศูนย์อาหาร สุดท้ายแล้วในจานเราเหลืออะไรที่ไม่ได้กินกลายเป็นขยะอาหาร

ผมไปเป็นที่ปรึกษาให้โครงการลดขยะอาหารศูนย์อาหารของสถาบันสิ่งแวดล้อม เขาพาไปเยี่ยมชมศูนย์อาหารของโรงงานแถวสระบุรีซึ่งมีพนักงานหลายร้อยคน รอบหนึ่งๆ ก็มากินกันเป็นร้อย กิจกรรมหนึ่งที่ศูนย์อาหารที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องทำเป็นครั้งคราว คือแยกขยะอาหารจากโต๊ะอาหารครับ ชั่งขยะอาหารน้ำหนักรวมได้เท่าไหร่ แล้วค่อยแยกขยะอาหารต่อ

เช้านั้นมีคนงานมากินอาหารที่ศูนย์อาหารประมาณ 100 คน ชั่งน้ำหนักขยะอาหารรวมได้ 5 กิโลกรัม ทีนี้ก็ใช้ปากคีบแยกขยะอาหารออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. เนื้อสัตว์หรือประเภทโปรตีน 2. ไขมันหรือเนื้อสัตว์ติดมัน 3. ผัก 4. ส่วนที่กินไม่ได้ เช่น ก้างปลา กระดูกไก่ ใบมะกรูด ท่อนตะไคร้ 5. แป้ง เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว

เดาซิครับว่าขยะอาหารจากจานอาหารอะไรเหลือมากที่สุด แน่นอนครับเป็นส่วนของแป้งหรือข้าว รองลงมาคือ ผัก เช้านั้นเป็นถั่วฝักยาวมาจากผัดพริกขิง มะเขือพวงมาจากแกงเผ็ด อันนี้เหลือเยอะมาก พอๆ กับพริกชี้ฟ้าแดงชิ้นใหญ่ๆ ใบมะกรูดมาทั้งใบคู่ไม่ได้ฉีกเลย มาจากแกงเผ็ดเช่นกัน มีพวกกะหล่ำปลีผัดอะไรอีกนิดหน่อย

ของเหลือถัดมาเป็นส่วนที่กินไม่ได้ กระดูกขาไก่ (น่องไก่ต้มน้ำปลา) ก้างหัวปลาทู (ปลาทูทอด) ก้างปลาดุกติดเนื้อ (ปลาดุกผัดเผ็ด คนกินคงขี้เกียจและเล็มกลัวก้างติดคอ) ที่เหลือเยอะมากเหมือนกันคือ ไขมันจากหมูสามชั้นชิ้นโตๆ มาจากผัดพริกขิง สุดท้ายเป็นส่วนเนื้อสัตว์เป็นชิ้นไก่ หมู เล็กน้อย

ถ้ากะประมาณคร่าวๆ อาหารศูนย์อาหารจานหนึ่งๆ เป็นข้าวประมาณ 150 กรัม กับข้าวอีก 100 กรัม ผักอีกประมาณ 50 กรัม รวมๆ แล้วข้าวราดแกงจานหนึ่งหนักประมาณ 300 กรัม พวกก๋วยเตี๋ยวอาจจะหนักกว่าเพราะมีส่วนของน้ำก๋วยเตี๋ยว

ทีนี้น้ำหนักขยะอาหารที่ชั่งได้คือ 5 กิโลกรัม หรือ 5,000 กรัม มีคนกิน 100 คน เอาขยะอาหารตั้ง หารด้วยจำนวนคนกิน 5,000/100 = 50 กรัม แปลว่าเฉลี่ยคนกิน 1 คน กินอาหารเหลือเป็นขยะอาหาร 50 กรัม ต่อคนหรือต่อ 1 จาน! หรือซื้อข้าวราดแกงมา 300 กรัม กินเหลือจานละ 50 กรัม

น่าตกใจไหมล่ะครับ แต่สถิตินี้ได้เป็นแค่ตัวอย่าง แทนของจริงไม่ได้ทั้งหมด ที่อื่นเวลาอื่นอาจจะกินเหลือมากกว่านี้ หรือเหลือน้อยกว่านี้ก็ได้ครับ

แยกขยะอาหาร

ที่แน่ๆ ถ้าจะแปลความหมายของการจำแนกขยะอาหารครั้งนี้ สิ่งที่เหลือมากที่สุดคือข้าว ก็ต้องไปหาสาเหตุทำไมลูกค้าถึงกินข้าวเหลือเยอะ เหตุผลเป็นไปได้หลายประการ 1. แม่ค้าให้ข้าวมากไป 2. ลูกค้ากินข้าวน้อย (กลัวอ้วน) 3. กับข้าวไม่อร่อย 4. ข้าวแข็งกลืนไม่ลง จะรู้เหตุได้ต้องไปถามแม่ค้าและลูกค้า

ส่วนใหญ่วิธีแก้ข้าวเหลือทั่วไปคือทำป้ายรณรงค์ ให้ลูกค้าตอนสั่งข้าว บอกแม่ค้าว่า “เอาข้าวมาก หรือข้าวน้อย” หรือแม่ค้าเป็นคนถามก็ได้ คือเอาข้าวไปแต่พอกิน แน่ใจว่ากินหมดนะ ส่วนถ้าเป็นสาเหตุจากว่ากับข้าวไม่อร่อย ข้าวแข็ง ต้องไปแก้ที่สาเหตุ หุงข้าวให้นิ่มขึ้น ไปหาสูตรทำกับข้าวอร่อยๆ หาแม่ครัวใหม่ ไปเรียนทำอาหาร เปลี่ยนเมนู

ในส่วนของผักเหลือมากเป็นมะเขือพวง พริกแดง เข้าใจได้ คนรุ่นใหม่เกือบ 100% ไม่กินมะเขือพวง ลดขยะมะเขือพวงง่ายๆ แม่ค้าแค่ลดมะเขือพวงลงครึ่งหนึ่งก็ยังได้ ไม่ทำให้เสียอารมณ์แกงเผ็ด หรือเปลี่ยนเป็นมะเขืออื่น เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักอื่น เช่น หน่อไม้ ยอดมะพร้าว ฟัก ลองถามลูกค้าส่วนใหญ่ดูอยากกินแกงเผ็ดใส่ผักอะไร ก็ใส่อย่างนั้น จะได้เหลือน้อยที่สุด

ส่วนพริกแดงที่เหลือมาก สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากแม่ค้าหั่นพริกแดงชิ้นใหญ่ ใส่ปริมาณมาก ลูกค้ากินไม่ไหว หั่นให้ชิ้นเล็กลง ใส่น้อยลง น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ และยังคงสีสันของแกงเผ็ดไว้ ใบมะกรูดให้ฉีกกลางใบหน่อย ใส่น้อยลงครึ่งหนึ่ง พอคงสภาพแกงเผ็ด อีกอย่างที่เหลือมากคือถั่วฝักยาวจากผัดพริกขิง ถ้าให้เดาผัดพริกขิงคงไม่ถึงพริกถึงขิง ไม่อร่อย คนเลยกินเหลือ อย่างนี้ต้องไปปรับปรุงสูตร ปรับปรุงเสน่ห์ปลายจวักล่ะครับ

เช่นเดียวกับส่วนของไขมันเป็นหมูสามชั้นผัดพริกขิงเหลือ เป็นไปได้ทั้งคนกลัวอ้วน หมูมันเยอะมาก และผัดพริกขิงไม่อร่อย วิธีแก้เหมือนกับเรื่องกับข้าวไม่อร่อย คนไม่อยากกินหมูสามชั้นผัดพริกขิง แต่ไม่รู้จะเลือกอะไร ก็เลิกทำไปเลยครับ

พวกก้าง กระดูก อาจจะเป็นของจำเป็นที่ยังต้องมีอยู่ในอาหาร หลีกเลี่ยงได้ยาก ไก่ ปลา ที่ไหนไม่มีกระดูกล่ะครับ แต่อาจเลี่ยงได้หน่อย เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก ออกเมนูนี้ให้น้อยลง เปลี่ยนเป็นผัดเผ็ดเนื้ออย่างอื่นที่กินได้หมดจาน

ลูกค้าเป็นคนสำคัญอีกคนในการลดขยะอาหารด้วยการคิดไว้ก่อนสั่งว่า “อะไรไม่กิน ไม่สั่ง” เช่น “ขอข้าวน้อยๆ ไม่เอามะเขือ ไม่เอาพริกนะ”

ถึงเวลาทิ้งก็สำคัญ ต้องเตรียมตะแกรงและถังไว้ ทิ้งแยกส่วนที่เป็นน้ำ เช่น น้ำก๋วยเตี๋ยว แยกเนื้อทิ้งอีกถัง พวกเศษผลไม้ เปลือกผลไม้แยกอีกถังเช่นกัน ขวดน้ำ กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องนม ลงถังรีไซเคิลครับ

เมื่อเราหาวิธีลดขยะอาหารลงได้แล้ว แต่ยังมีขยะอาหารเหลืออยู่บ้าง แต่ควรจะลดลง ที่เหลือนำไปทำให้เกิดประโยชน์ อย่างแรกขายเป็นอาหารหมู (ไม่ต้องทิ้งไม้จิ้มฟันกับทิชชูลงไปในอาหาร หมูไม่ใช้ทิชชูกับไม้จิ้มฟันครับ) นำไปทำปุ๋ย

พวกเปลือกสับปะรด ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว เก็บแยกไว้ทำน้ำหมักชีวภาพ เอาไว้ผสมน้ำรดน้ำต้นไม้ ผสมทำน้ำยาล้างจาน ล้างพื้น ใส่ขวดวางขาย แจกให้ลูกค้าก็ได้ น้ำมันใช้แล้วให้กรองเอาเศษอาหารออกแยกใส่ปี๊บ รอเขามาเก็บได้ปี๊บละ 370 บาท ขายน้ำมันใช้แล้วควรขายให้กับเจ้าที่เชื่อถือได้ครับว่าเอาไปแปรรูปเป็นน้ำมันชนิดอื่นที่ไม่นำกลับมาใช้กับอาหารใหม่ เจ้าดังๆ ก็ของน้ำมันบางจากเขาล่ะครับ

ลดขยะเศษอาหารแล้ว อย่าลืมลดขยะอื่นควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะพวกถุงพลาสติก โฟม หลอด ถุงก๊อบแก๊บ ท่องคาถาไว้ครับ เหมือนสโลแกนลดเหล้าเลย

“ลด ละ เลิก” ครับ