10,000 บาท เปลี่ยนเงื่อนไข เตรียมความพร้อม ก่อนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต เช็กได้ที่นี่

10,000 บาท เปลี่ยนเงื่อนไข เตรียมความพร้อม ก่อนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต เช็กได้ที่นี่

รัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงเงินดิจิทัลวอลเล็ต ปรับเงื่อนไข คนทั่วไปใช้ได้เฉพาะร้านสะดวกซื้อลงมา ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก

วันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มประชุม นายกฯ ได้ถามหานายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าฯ ธปท. ที่เข้าร่วมประชุมแทน แจ้งว่าผู้ว่าฯ ธปท. ติดภารกิจประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำให้นายกฯ บอกว่า “ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวค่อยว่ากัน” จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุม

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลมีความยินดีที่ประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนมาถึงวันนี้รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญ เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนจะได้ยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้

นโยบายฯ เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบฐานภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ

เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความโปร่งใสให้แก่ระบบชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้

รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2-1.6  จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ

“รัฐบาลจะดำเนินการโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด” นายเศรษฐา กล่าว

ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

แหล่งเงิน 3 ก้อน 5 แสนล้าน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการ 5 แสนล้านบาทว่า จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณปี 2567 และ 2568 ควบคู่กันไป

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดูแลกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนเศษ  ผ่านงบประมาณ 2568

3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งมีเวลาที่รัฐบาลพิจารณาว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือ ใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ

ทั้ง 3 ส่วน รวมกัน 5 แสนล้านบาทพอดี ทั้งนี้ ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ ณ วันที่เริ่มโครงการจะมีเงินอยู่ 5 แสนล้านบาท ในวันเริ่มต้นโครงการฯ

นายลวรณ แสงสนิท
นายลวรณ แสงสนิท

เหตุผลที่ทำโครงการ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ ว่า ในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.7 ต่อปี (ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประมาณไว้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพและมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบ GDP

ในไตรมาสที่ 4 กับ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขจัดผลของฤดูกาลแล้ว (Seasonally Adjusted) พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โตต่ำ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ควบคู่กับระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง รวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

เงินฝากต้องไม่เกิน 5 แสน

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้กำหนด ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น คือ ร้านที่เป็นสะดวกซื้อลงมา เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น ในชุมชน สแตนด์อโลน รวมถึงร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน แต่ไม่รวม ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

กลุ่มสอง การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน

ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax : CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

6. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการฯ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

7. การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ

โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ