สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขาดดุลพุ่ง รัฐเคาะมาตรการช่วยแฟรนไชส์ – SMEs หาทำเลค้าขาย ราคาพิเศษ

สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขาดดุลพุ่ง รัฐเคาะมาตรการช่วยแฟรนไชส์ - SMEs หาทำเลค้าขาย ราคาพิเศษ
สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขาดดุลพุ่ง รัฐเคาะมาตรการช่วยแฟรนไชส์ - SMEs หาทำเลค้าขาย ราคาพิเศษ

สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขาดดุลพุ่ง รัฐเคาะมาตรการช่วยแฟรนไชส์ – SMEs หาทำเลค้าขาย ราคาพิเศษ

เปรียบเทียบดุลการค้าระหว่างไทย-จีน ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2566 ไทยขาดดุลถึง 1,272,234 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออก และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ ล่าสุดคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs เคาะ 2 มาตรการเร่งด่วน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 สืบเนื่องเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เครือข่ายธุรกิจบิสคลับประเทศไทย รวมถึงผู้แทนภาครัฐและเอกชน ในการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก พร้อมได้เคาะ 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุ ผลการประชุมเบื้องต้น นอกจากติดตามมาตรการ 9 ด้านที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อผลักดันให้ GDP SMEs ในประเทศ ขยับจาก 35.2% เป็น 40% ภายในปี 2570 และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ยังมีมติเคาะ 2 มาตรการเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทันที ประกอบด้วย

มาตรการสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์

สำหรับมาตรการดังกล่าว ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ ในการคัดเลือกพื้นที่จัดหาทำเลค้าขายราคาประหยัดสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1. ใกล้แหล่งชุมชน เข้าถึงง่าย สะดวกสบายในการมาใช้บริการ 2. มีความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้า 3. ผู้คนผ่านตลอดทั้งวัน 4. ต้นทุนทำเลเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 5. ระยะเวลาสัญญาเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม 6. มีที่จอดรถเพียงพอและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ 7. ความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และ 8. ไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของพื้นที่ เช่น กฎหมายข้อบังคับการจัดพื้นที่ (Zoning)

สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหารบางประเภทห้ามเปิดในบางพื้นที่ หรือ การต้องเสียภาษีป้าย เป็นต้น และมอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเจรจากับภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขอจัดสรรพื้นที่ทำเลการค้าในกรุงเทพมหานครในราคาลดพิเศษสำหรับ SMEs และ แฟรนไชส์ไทย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรและได้พื้นที่ราคาลดพิเศษแล้วจำนวน 124 แห่ง

ขณะที่ ส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ตลาดนัด/ตลาดชุมชน ห้างค้าปลีก/ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่การค้าอื่นๆ

โดยสามารถเจรจาได้พื้นที่แล้ว จำนวน 3,977 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 758 แห่ง (19%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 1,435 แห่ง (36%) ภาคกลาง (25 จังหวัด) 1,121 แห่ง (28%) และภาคใต้ (14 จังหวัด) 663 แห่ง (17%)

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการประกอบธุรกิจ จำนวน 525 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 234 แบรนด์ (44%) ธุรกิจเครื่องดื่ม 103 แบรนด์ (20%) ธุรกิจการศึกษา 68 แบรนด์ (13%) ธุรกิจบริการ 63 แบรนด์ (12%) ธุรกิจค้าปลีก 33 แบรนด์ (6%) ธุรกิจความงาม และสปา 24 แบรนด์ (5%)

รวมถึงธุรกิจสินค้าชุมชน (Smart Local BCG) และธุรกิจในรูปแบบรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัก) ที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการพิจารณาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ด้วย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0 2547 5953 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

มาตรการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางดำเนินงานและมาตรการในการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs โดยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในไทยซื้อสินค้าในประเทศส่งกลับภูมิลำเนาแทนการส่งเงิน โดยระยะแรกจะเน้นที่แรงงานจากประเทศเมียนมาก่อน เนื่องจากมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 2,513,856 คน เบื้องต้นได้กำหนดโครงการนำร่อง (Pilot Project)

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มสินค้าที่เป็นที่รู้จักของแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งสินค้า หรือ มีศูนย์กระจายสินค้า (DC)/เอาต์เลต (Outlet) ในประเทศเมียนมา รูปแบบ : แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยซื้อสินค้าผ่านผู้ผลิตผ่านระบบสั่งซื้อ และผู้ผลิตจะเป็นผู้บริหารจัดการส่งสินค้าไปยัง DC/Outlet หรือเครือข่ายในประเทศเมียนมาเพื่อมารับสินค้า

2. กลุ่มสินค้า สินค้าชุมชน และ OTOP SME ที่ยังไม่มี Outlet ในประเทศเมียนมา รูปแบบ : แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของโลจิสติกส์ และมีการจัดส่งผ่าน Logistics Platform ของไทยและประเทศเมียนมา นำส่งสินค้าตรงถึงครัวเรือนในเมียนมา ซึ่งต้องมีการส่งเสริมและนำเสนอสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เช่น ให้ทดลองใช้ก่อน นำเสนอสินค้าให้มีความน่าสนใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทยอีก 7 ด้าน พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ เพราะยิ่งดำเนินการให้เห็นผลเร็วขึ้นเท่าไร จะส่งผลดีต่อการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ทุกตลาด เป็นการสร้างและเพิ่มความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง หารือในประเด็น ‘การตลาดนำการผลิตในสินค้าเกษตรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuels)’ ด้วย

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ GDP SMEs เติบโตทะลุ 40% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มั่นใจว่าเอสเอ็มอีไทยอยู่รอด ประเทศไทยอยู่ได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ