กกพ. เคาะแล้ว ค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ลดลง 50 สตางค์/หน่วย เหลือ 4.18 บาท

กกพ. เคาะแล้ว ค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ปรับเป็น 4.18 บาทต่อหน่วย ลดลง 50 สตางค์/หน่วย จากมติเดิมอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย แต่เพิ่มขึ้น 19 สตางค์/หน่วย จากงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย

วันที่ 10 ม.ค. 2567 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ลดลงเหลือ 39.72 สตางค์/หน่วย จาก 89.55 สตางค์/หน่วย เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนเหลือ 4.18 บาท/หน่วย ลดลง 50 สตางค์/หน่วย จากมติเดิมอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย แต่เพิ่มขึ้น 19 สตางค์/หน่วย จากงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นไปตามมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4.20 บาท/หน่วย

โดยให้มีการเรียกเก็บความเสี่ยงด้านความขาดแคลน (Shortfall) กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2563-2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้ ปตท. ส่งผ่านเงิน Shortfall 4,300 ล้านบาท โดยให้นำมาลดค่าก๊าซในรอบเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ทำให้ราคาเนื้อก๊าซลดลง ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 4.47 สตางค์/หน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้ กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวที่อัตรา 3.99 บาท/หน่วย โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจาก ครม. วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวว่า แม้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จะปรับลดลงตามแนวทางการคำนวณค่าเอฟทีใหม่ แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไปจะขึ้นกับราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้น กกพ. ยังคงต้องติดตามความสามารถของการส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการจัดหาแอลเอ็นจีเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ราคาค่าไฟฟ้าคงต้องคำนึงถึงภาระเอฟทีคงค้างที่ต้องส่งคืน กฟผ. และ ปตท. ในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป