พยากรณ์ 6 เทรนด์ ปี 2567 เรื่องอะไร ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ มัดใจผู้บริโภค

พยากรณ์ 6 เทรนด์ ปี 2567 เรื่องอะไร ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ มัดใจผู้บริโภค

ช่วงโค้งสุดท้ายบอกลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักจะมีเทรนด์ที่ต้องรู้เอาไว้ เพื่อเป็นคู่มือทางการตลาด หากอยากเอาใจผู้บริโภคท่ามกลางศักราชใหม่

“ยูโรมอนิเตอร์” พยากรณ์ 6 เทรนด์ผู้บริโภคที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 เริ่มจาก

หนึ่ง อยากรู้อะไรให้ถาม AI ทุกวันนี้ ใครๆ ก็คงคุ้นเคยกับ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเปลี่ยนโลกไปจากเดิม หลังจาก “แชตจีพีที” (ChatGPT) เปิดตัวเมื่อปลายปี 2565 และทำสถิติยอดผู้ใช้แตะ 100 ล้านราย ในเวลาเพียง 2 เดือน ด้วยจุดเด่นที่ใช้งานง่าย แม้แต่คนที่ไม่ได้มีความรู้เทคโนโลยีมากนัก

ไม่เพียงแต่คนทั่วไป แต่บริษัทต่างๆ ก็ใช้งาน AI อย่างแพร่หลาย ทั้งแชตบอต ระบบสั่งการด้วยเสียง เทรนด์ AI นี้จะสามารถสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันได้ หากใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รวบรวมข้อมูลสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และตอบคำถามลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน

สอง ใช้ความสุขสนุกสนานช่วยคลายทุกข์ หลังวิกฤตโควิดทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสงคราม ผู้คนแบกรับความตึงเครียดเหล่านี้ และต้องการความสุขมาชดเชย

ความสุขในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยได้มาก ผู้บริโภคยังมองหาสินค้าที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจ อาทิ การแต่งตัวตามเทรนด์แฟชั่นที่ทำให้รู้สึกดี หมายความว่าแบรนด์ต่างๆ ควรทำให้การซื้อขายสะดวก หรือใช้การตลาดที่ทำให้รู้สึกในแง่บวก

สาม รักษ์โลกแบบโปร่งใส เพราะผู้บริโภคอยากมีส่วนร่วมในวิกฤตสภาพอากาศโลก แต่จะไม่ยอมรับสัญญาปากเปล่าหรือเรื่องราวที่ไม่จริงจากแบรนด์ ความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมจะยังเป็นเรื่องสำคัญ และผู้บริโภคต้องการธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและโปร่งใส ขณะเดียวกัน สินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนจะต้องมีราคาที่จับต้องได้ด้วย ไม่ใช่แพงเกินเอื้อม

สี่ แบรนด์ต้องแสดงจุดยืน โดยผู้บริโภคจะเลือกแบรนด์ที่มีจุดยืนสอดคล้องกับตัวเอง เพราะจะสะท้อนถึงสิ่งที่ใส่ใจหรือสิ่งที่อยากจะเป็น แต่ต้องยอมรับว่า การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนอาจจะได้ใจลูกค้ากลุ่มหนึ่ง แต่ก็เสี่ยงที่จะเสียลูกค้าบางส่วน แบรนด์ควรสนับสนุนประเด็นที่มีความสำคัญต่อลูกค้าและสอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์

ห้า เน้นคุณภาพฉ่ำๆ ในราคาย่อมเยา เพราะค่าครองชีพที่แพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต้องจัดการรายจ่ายใหม่ โดยเลือกสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ประหยัด ในฐานะบริษัทหรือแบรนด์ สามารถทำแคมเปญที่ช่วยประหยัดรายจ่าย หรือโปรแกรมสะสมคะแนน หรือแบ่งปันเคล็ดลับในการจับจ่ายแบบประหยัด

หก สุขภาพดีแบบเห็นผลเร็ว ผู้บริโภคอยากให้ตัวเองดูดีและรู้สึกดี แต่ตอนนี้ต้องการเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว อาจเป็นความคืบหน้าเล็กๆ ไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และใช้เวลานาน โดยแบรนด์ควรใช้ตัวช่วย เช่น เครื่องมือตรวจสอบแบบเรียลไทม์ หรือช่วยติดตามความคืบหน้า

++++++++

ที่มาภาพ

  1. https://nrf.com/
  2. https://blogs.idc.com/2020/04/23/how-has-covid-19-changed-consumer-shopping-behavior/
  3. https://lp.euromonitor.com/white-paper/2024-global-consumer-trends/overview