กระแส ออเจ้า ส่ง อาหารไทยโบราณ ที่ร้าน “ณ บวร” ขายดี เชียวหนา

กระแส ออเจ้า ส่ง อาหารไทยโบราณ ที่ร้าน “ณ บวร” ขายดี เชียวหนา

“ณ บวร” อ่านว่า นะ-บอ-วอน คือชื่อร้านอาหารไทยโบราณ ที่ซ่อนตัวอยู่ในอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นอายุกว่าร้อยปี ละแวกชุมชนย่านวัดบวรนิเวศ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

กิจการแห่งนี้ เริ่มต้นจากการเป็นร้านกาแฟ ต่อมาจึงเสริมเมนูหลักเป็นอาหารไทยโบราณ เพราะอยากขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

คุณชวลิต จิตภักดี หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน “ณ บวร”

คุณชวลิต จิตภักดี หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน “ณ บวร” เปิดร้านต้อนรับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” พร้อมสละเวลามาให้ข้อมูลด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้มกันเอง เริ่มต้นให้ฟัง ถึงแนวคิดการทำธุรกิจว่า สถานที่ตั้งร้านอยู่ใกล้กับวัดพระอารามหลวง จึงอยากขายอาหารไทยโบราณ เมนูแต่ละอย่างในร้าน ต้องเป็นอาหารไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดบวรฯ ไม่มากก็น้อย

ยกตัวอย่าง แกงเหลืองปลากะพงยอดมะพร้าว ที่ใช้เครื่องแกงสูตรของสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องกับวัดบวรฯ ตรงที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เคยธุดงค์ไปที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา หรืออย่าง แกงรัญจวน ผัดสามฉุน มีที่มาจากราชสกุลยุคล ซึ่งมีความผูกพันกับพระอารามหลวงแห่งนี้มายาวนาน

แกงเหลืองสูตรสงขลา

หลังจากคัดเลือกเมนูไทยโบราณ ได้อย่างตั้งใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึง เชิญทีมงานเชฟ มาศึกษาประวัติความเป็นมาแต่ละเมนูร่วมกัน ก่อนออกแบบให้มีรสชาติออกแนวไทยภาคกลาง คือ ไม่เข้มข้นและไม่อ่อนจนเกินไป

สำหรับลูกค้าเป้าหมายหลักของกิจการนี้ คือ คนไทยที่มาทำบุญที่วัดบวรฯ ค่อนไปทางกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน มักมาทำบุญกันเฉพาะในช่วงเทศกาล ซึ่งคนที่มาทำบุญส่วนใหญ่ เมื่อนำของมาถวายพระแล้ว มักออกมาหาอะไรกินกันนอกวัด ช่วง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ลูกค้าจึงมักมาอุดหนุนเต็มร้าน ทั้งมื้อกลางวันและเย็น

ถามถึงเมนูไฮไลต์ที่ไม่อยากให้พลาด คุณชวลิต บอก

“แกงรัญจวน หมูสร่ง ปลาแห้งแตงโม ม้าฮ่อ มัสมั่นไก่ และอีกหลายอย่าง เพราะเมนูที่ร้านมีเมนูเยอะมาก อย่าง แกงระแวง หรือ แกงแดงแบบโบราณสมัยทวารวดี ที่เกี่ยวเนื่องกับพระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า ตอน รัชกาลที่ 4 เสด็จฯ พระปฐมเจดีย์ เคยฉันตอนพระองค์ท่านบวชเป็นพระ เราก็พยายามเก็บข้อมูล แล้วบรรจุไว้ในเมนูให้เข้ากับบรรยากาศ”

แกงรัญจวน

เปิดร้านมาได้ 3 ปีเศษ ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นสถานการณ์โควิด-19 แต่ เจ้าของกิจการท่านเดิม บอกว่า “ณ บวร” สามารถรักษาพนักงาน รักษาร้าน ไว้ได้ ไม่เคยต้องปิดแม้แต่วันเดียว

ช่วงโควิด ปรับตัว 2 รูปแบบ อย่างแรก ทำกับข้าวใส่ปิ่นโตถวายพระในวัดบวรฯ จุดเริ่มมาจาก พระคุณเจ้าในวัดไปงานสวดงานหนึ่ง แล้วมีคนเป็นโควิดในงานนั้น เลยไปลือกันว่าท่านติดโควิด แต่ความจริงไม่ได้ติดมาด้วย แต่ช่วงนั้นเป็นเวลาแห่งความหวาดระแวง เช้าวันรุ่งขึ้นไม่มีใครใส่บาตรวัดบวรฯ เลย ขณะที่ร้านเรามี พ่อครัวแม่ครัว สแตนด์บายอยู่แล้ว เลยขอเป็นเจ้าภาพเอง จัดปิ่นโตถวายทั้งวัด” คุณชวลิต เล่าอย่างนั้น

ม้าฮ่อ

ก่อนบอกต่อว่า หลังจากทำกับข้าวถวายพระทั้งวัดได้พักหนึ่ง ก็มีญาติโยม มาขอร่วมบุญด้วยอย่างตอเนื่อง จากที่ร้านไม่มีรายได้ แต่รอดมาได้จากการทำปิ่นโตถวายพระ โดยมีญาติโยมจากทั่วสารทิศร่วมเป็นเจ้าภาพ

หลังจากวิกฤตในแวดวงสงฆ์ผ่านพ้นไป ถัดมาจึงเป็นประเด็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งช่วงเวลานั้น คุณหมอ-พยาบาล ต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่ต้องรับประทานอาหารแช่แข็ง เพราะไม่ค่อยมีใครส่งอาหารสดให้ ทางร้าน จึงเริ่มหันมาทำข้าวกล่อง กับข้าวทำสดใหม่ไม่ซ้ำ ส่งไปเป็นกำลังใจ ปรากฏ คุณหมอ ทานเสร็จแล้ว ถ่ายรูปขอบคุณโพสต์ลงโซเชียล

ทำให้มีคุณหมอท่านอื่นๆ เห็น แล้วอยากได้ด้วย เลยมีการขยาย จาก 50 กล่อง เป็น 400 กล่องต่อวัน จากนั้นก็พรรคพวกมาช่วยกันสนับสนุน กระทั่งทำให้ทางร้านมีภารกิจหลักต่อมาคือ ทำข้าวกล่องส่งโรงพยาบาล   ตามกำลังที่ร้านเราทำไหว กิจการจึงพอมีรายได้เข้า ไม่มีการเลิกจ้าง และไม่ปิดร้านแม้แต่วันเดียว

หมูสร่ง

ประคองธุรกิจมาได้ถึง พ.ศ. นี้ ล่าสุดได้กระแสดี จากละครดังทางช่อง 3 เหล่าสาวก “ออเจ้า” อินกับบทประพันธ์ เลยมาถามหาอาหารไทยโบราณจากทางร้าน ณ บวร อย่างต่อเนื่อง

“ช่วงนี้ มีลูกค้าเริ่มมาถามหาเมนูในละครพรหมลิขิต อย่าง หมูสร่ง ไข่เจียวกุ้ง กระเพราไก่ไข่ดาวกรอบๆ บางท่านสั่ง หมูสร่ง วันละ 10 ชุด เพื่อนำไปเลี้ยงแขกที่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีเด็กรุ่นใหม่ๆ มาทานและถ่ายรูปลงโซเชียล แต่ลูกค้าเป้าหมายหลักของเรา คือคนที่โหยหาอาหารโบราณดั้งเดิมแบบไทยๆ” คุณชวลิต บอกอย่างนั้น

ส่งท้ายถามถึงความตั้งใจในธุรกิจ คุณชวลิต เผยว่า

“อาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ตัน หากวันหนึ่งกระแสความนิยมในอาหารไทยโบราณจะหมดไปจริงๆ ร้านนี้สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอาหารอย่างอื่นได้ แต่เชื่อว่าอาหารไทยโบราณนั้น มีเสน่ห์ รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ทั้งคนไทย-ต่างชาติ มีแต่จะนิยมชมชอบกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

ร้านอยู่ในอาคารร้อยปี

ร้านอาหารไทยโบราณ “ณ บวร” เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. ส่วน เสาร์-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 08.00 น. จุดจอดรถ มี 2 จุดใหญ่ๆ คือ ภายในสนามโรงเรียนวัดบวรฯ และอาคารจอดรถของ กทม. แถวถนนข้าวสาร หรือจะจอดริมถนนก็ได้ แต่อนุญาตถึงบ่าย 3 โมงเท่านั้น