อภัยภูเบศร ยกผลวิจัยทั่วโลก “บัวบก” ช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม

อภัยภูเบศร ยกผลวิจัยทั่วโลก  “บัวบก” ช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม  

สืบเนื่องจาก “ภาวะสมองเสื่อม” เป็นปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จากบทความของ    The Lancet Public Health ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง การประมาณความชุกของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกในปี 2019 และความชุกที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 ระบุว่า ภายในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากถึง 153 ล้านคน เพิ่มจาก 57 ล้านคนในปี 2562 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในแต่ละปี

การรักษาในปัจจุบัน นอกเหนือจากการค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้นแล้ว การป้องกันก็มีส่วนสำคัญมาก เพราะการพัฒนาการไปสู่ภาวะสมองเสื่อมนั้นใช้เวลาในการสะสมโปรตีนพิษในสมอง 15-20 ปี โดยไม่แสดงอาการ โดยปัจจุบัน มีคำแนะนำหลายอย่าง ทั้งการพักผ่อน นอนหลับ ทำจิตใจให้สงบ มีสมาธิ  และการรับประทานอาหาร

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นองค์กรที่นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้สมุนไพรที่เหมาะสม จึงได้จัดงาน เสวนาวิชาการ “รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอเสื่อม“ ในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ชั้น 1 ตรงข้ามโรงพยาบาลบางโพ  กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนนำความรู้ด้านสมุนไพรไปใช้ร่วมกับดูแลสุขภาพองค์รวมเพื่อป้องกันการเกิดสมองเสื่อม

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ดร.ภญ.สุภาภรณ์  ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า การป้องกันภาวะสมองเสื่อม เป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่า ทั้งในด้านการลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย

แต่ถึงแม้จะยังไม่มีภาวะดังกล่าว การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ สมุนไพรจะมีบทบาทมากในด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดมีสารสำคัญหลากหลายชนิด ที่ช่วยเสริมฤทธิ์ในการดูแลสุขภาพ

“เรื่องสมองเสื่อมนั้น มีงานวิจัยจำนวนมากของบัวบก ที่พบว่ามีส่วนช่วยในการทำงานด้วยกลไกที่หลากหลาย ทั้งเพิ่มการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการสร้างโปรตีนที่ชื่อว่า “Brain-derived neurotrophic factor หรือ (BDNF)“ ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง ช่วยชะลอการสลายของสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่จดจำ”

“และยังมีฤทธิ์ปกป้องสมองจากสารพิษ หรือหากสมองถูกทำร้ายจากสารพิษแล้ว ก็จะช่วยลดการอักเสบฟื้นฟูและเยียวยาสมองให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการวิจัยช่วยเสริมความจำ และปรับอารมณ์ให้สดชื่น ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่ได้ใหม่เลยสำหรับสังคมไทยที่ใช้สมุนไพรมานาน” ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

และว่า บัวบก ซึ่งมีรูปร่างเหมือนสมอง เป็นสมุนไพรรับรู้กันว่าช่วยในการบำรุงสมอง เสมือนรหัสธรรมชาติที่ส่งมอบมาให้มนุษย์ คนสมัยก่อนนำบัวบก มาคั้นน้ำกินก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับตื่นมาสดชื่น ทำให้อารมณ์ไม่หงุดหงิด ในบางพื้นที่ก็จะใส่พริกไทยนิดหน่อย เพื่อลดความเย็นของบัวบก

สวนบัวบก

งานวิจัยภายหลังพบว่า สารพิเพอรีนในพริกไทยช่วยดูดซึมสมุนไพรหลายชนิดเข้าสู่ร่างกาย เป็นความชาญฉลาดของคนในยุคก่อน และในช่วงโควิด-19 ระบาด มีการวิจัยพบว่า บัวบกปั่นกับกล้วยช่วยให้สดชื่น อารมณ์ดี ก็เป็นตัวอย่างของการประยุกต์บัวบกมาใช้ ดังนั้น เราสามารถนำบัวบกมาใช้เป็นอาหารบำรุงสมองได้

แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเรา พบว่า บัวบก เป็นสมุนไพรที่ดูดโลหะหนักในดินขึ้นมาสะสมที่ต้นได้มาก ดังนั้น การปลูกบัวบก จึงต้องดำเนินการในพื้นที่ปลอดสารพิษ และมีการดูแลด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ เมื่อปลูกแล้วต้องเก็บเกี่ยวด้วยเวลาที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ ทางอภัยภูเบศร ยังได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกจากแหล่งต่างๆ ได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาพบว่า บัวบก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสัณฐานวิทยาไปตามสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่ปลูก การดูแลให้น้ำ ปุ๋ยที่เพียงพอที่ส่งผลต่อการงอกงามของบัวบกโดยตรงแล้ว

แต่เราก็พบลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์บัวบกแต่ละแหล่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่สามารถเห็นและเปรียบเทียบได้ชัดที่สุดคือความคงทน ทนต่อโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นตัว เป็นต้น

และเมื่อนำไปวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเบื้องต้น โดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ในบางบริเวณ ของตัวอย่างบัวบกจำนวน 30 ตัวอย่าง เบื้องต้นพบว่า บัวบก เป็นพืชที่มีความใกล้ชิดในสายพันธุ์สูงมาก ซึ่งมีค่า Percent Identity จากการศึกษาในครั้งนี้ อยู่ระหว่าง 86.29-100% แต่ในนี้ก็ยังมีการจำแนกสายพันธุ์ของตัวอย่างบัวบกได้เป็น 3 กลุ่ม

น้ำบัวบก

และจะนำบัวบกสายพันธุ์ต่างๆ ที่ทำการรวบรวมไว้ไปจัดแสดงในงานนี้ด้วย เพื่อให้สังคมเห็นลักษณะที่แตกต่างกันของบัวบก และช่วยกันค้นหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกแต่ละพื้นที่ ทางอภัยภูเบศรมีความยินดีที่จะรับบริจาคพันธุ์บัวบกและเป็นที่เก็บรวบรวมสายพันธุ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

นอกจากนี้ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในงานดังกล่าว มีการแจกต้นพันธุ์บัวบกสายพันธุ์ศาลายา ที่มีใบใหญ่ และสารสำคัญคือ Triterpenes สูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักเท่ากัน ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมามากกว่า 10 ปี เพื่อให้ประชาชนไปใช้ประโยชน์

ขณะเดียวกัน ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกมาพูดคุย และให้คำแนะนำการปลูกเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจนำสมุนไพรไปใช้สามารถปลูกได้อย่างถูกต้อง และในงานก็มีการนำบัวบกมาปรุงอาหารเพื่อบำรุงสมอง ที่กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งหากสนใจก็สามารถมาพบกันได้ที่ในงานตามวันเวลาที่กล่าวข้างต้น