มะเขือเทศ ควบคุมความหวานระดับสูง ผลิตผลใหม่ เกษตรอัจฉริยะ

มะเขือเทศ ควบคุมความหวานระดับสูง ผลิตผลใหม่ เกษตรอัจฉริยะ

ด้วยวงล้อเศรษฐกิจชาติที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดล BCG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกสู่การเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่ทุกสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยถือเป็นภารกิจสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตของชาติด้วยองค์ความรู้จากการใช้เทคโนโลยี

ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ถือเป็นภารกิจสำคัญในการร่วมผลักดันเศรษฐกิจชาติสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของ “เกษตรอัจฉริยะ” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้องค์ความรู้จากการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

3 ปีที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จัดหลักสูตรเกษตรอัจฉริยะ “นวัตกรรมการผลิตพืชเพื่ออนาคต” แบบ Non Degree ตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ปัจจุบันพร้อม “ออกดอกออกผล” แล้ว สู่การสร้าง Social Enterprise เพื่อชุมชน

ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยหลักการแห่ง Precision Agriculture หรือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างแม่นยำ ภายใต้การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตที่ปลอดภัยภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มอบให้ชุมชนที่ผ่านมา

ปัจจุบันได้เกิดเป็น ผลิตผลใหม่ทางการเกษตร จากการปรับปรุงพันธุ์พืช ให้ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้สังคมแห่งสุขภาวะ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของประชาชนในชุมชนและประเทศชาติ

อาทิ มะเขือเทศควบคุมความหวานระดับสูง ที่จะทำให้มะเขือเทศ ไม่ได้ปรากฏเพียงใน จานผัก แต่จะสามารถจัดรวมกับ จานผลไม้ โดยที่ยังคงอุดมไปด้วยสารอาหาร และเพิ่มเติมด้วยความหวานจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ หรือการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรผลิตพืชผักโซเดียมต่ำ เพื่อคุณค่าที่คู่ควรกับจานสลัด และพร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

มะเขือเทศ ควบคุมความหวานระดับสูง

สิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้ Social Enterprise แห่งชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี เกิดความยั่งยืน ภายใต้การทำงานที่สอดประสานระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดกาญจนบุรี (Agriculture and Innovation Center – AIC)

พร้อม “คืนกำไรสู่ชุมชน” เพื่อการพึ่งพาตนเอง เป็นของขวัญตอบแทนการสนับสนุนของชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีให้กันอย่างอบอุ่นและต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา ให้พร้อมเดินหน้าสู่การเป็น Eco-Smart Campus ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยพลังแห่งชุมชน ต่อไป