อยากทำธุรกิจต้องรู้! อัปเดต 9 กลุ่มธุรกิจ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในปี 2023

อยากทำธุรกิจต้องรู้! อัปเดต 9 กลุ่มธุรกิจ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในปี 2023

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงศรี อ้างอิงข้อมูลจาก MyNavi ผู้นำด้านข้อมูลการทำงานในประเทศญี่ปุ่น ได้สรุป 9 กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในปี 2023 ใครที่อยากเริ่มหรือคิดจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ต้องห้ามพลาดการอัปเดต ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจด้าน IT

  • ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไฟเบอร์ออฟติก, 5G เป็นต้น)
  • ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์ เช่น บริษัทที่คิดค้นและพัฒนาระบบปฏิบัติการ, สร้างแอปพลิเคชัน, โปรแกรมเกมต่างๆ
  • ธุรกิจผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น บริษัทที่คิดค้น พัฒนา และจำหน่ายคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และเครื่องเกมต่างๆ
  • ธุรกิจประมวลผลข้อมูล เช่น ผู้พัฒนาระบบ AI, วิเคราะห์ Big Data เป็นต้น
  • ธุรกิจที่ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น Website, Web Content, โฆษณา, E-Commerce, SNS เป็นต้น

ในอนาคตหากในประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้งานเทคโนโลยี 6G ได้แล้ว จะทำให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง มีโอกาสเติบโตได้แบบก้าวกระโดดทันที ฉะนั้น หากคุณทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ขอให้โฟกัสให้เต็มที่ครับ

2. กลุ่มธุรกิจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิปเล็กๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่)

เนื่องจากยุคนี้มียอดการซื้อคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าเยอะขึ้นมาก จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือชิปขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก เพื่อสอดรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน

3. กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับความบันเทิง

ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องอาศัยอยู่ในบ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์, ซีรีส์, เพลง, วิดีโอเกม เป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ให้บริการยุคใหม่จะเน้นใช้ระบบคิดค่าบริการ หรือสมาชิกแบบรายเดือน หรือรายปี (Subscription Business Model)

ในทางกลับกันธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นขั้วตรงข้ามของธุรกิจข้างต้น เช่น โรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ สำนักพิมพ์ ที่เป็นธุรกิจด้านความบันเทิง แต่ไม่สามารถให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นอาจมีความนิยมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่มีมาอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนๆ

4. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการโฆษณาออนไลน์

จากข้อมูลการสำรวจเฉพาะทางของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry) ในเดือนตุลาคม 2022 พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณาแบบออนไลน์ในญี่ปุ่น แซงหน้าค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณาในโทรทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งถือเป็นประวัติการณ์สำคัญของคนวงการโทรทัศน์ที่ต้องปรับตัวสู่โลกใหม่ที่สปอนเซอร์ต่างๆ กำลังหันไปสนใจการลงโฆษณาออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการลงโฆษณาทางออนไลน์สามารถส่งโฆษณาไปถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางได้แม่นยำกว่า และสอดรับกับพฤติกรรมการรับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างจะเห็นได้ว่าคนใช้สมาร์ทโฟนในการรับข่าวสารมากขึ้น แทนที่การดูโทรทัศน์แบบดั้งเดิม

5. กลุ่มธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ (Healthcare) และการดูแลผู้สูงอายุ

การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพ ไม่เพียงแต่การรักษาเท่านั้น แต่หมายถึงเวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Healthcare) ที่เน้นการป้องกันก่อนเกิดโรค ฉะนั้น สินค้า และบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย, การฉีดวัคซีนป้องกัน, การตรวจสุขภาพประจำปี ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น

รวมถึงอุปกรณ์ IT, แอปพลิเคชันต่างๆ ที่ส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้งานด้วย นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดไปแล้ว (ประเทศไทยในอนาคตก็จะตามญี่ปุ่นไปเหมือนกัน) ย่อมมีความต้องการการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้น สินค้า และบริการที่ออกแบบมาเพื่อการดูแลผู้สูงอายุย่อมมีโอกาสเติบโตในอนาคต

6. กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านการส่งอาหาร (Food Delivery)

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถออกไปไหนได้มาก จึงเกิดเป็นพฤติกรรมการสั่งอาหารแบบ Food Delivery ซึ่งพฤติกรรมนี้ยังคงต่อเนื่องไปในปี 2023

7. กลุ่มธุรกิจอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone)

โดรนถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่นในปัจจุบัน ในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2021 ก็มีการใช้โดรนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นก็ได้นำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น โดรนสำหรับส่งของ, โดรนเพื่อการเกษตร, โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติ, โดรนสำหรับตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

และคาดว่าในปี 2023 ก็จะมีการพัฒนาโดรนให้ทันสมัย และประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น (ผมเคยดูในโทรทัศน์ในญี่ปุ่นเขามีโดรนที่ใช้ในการทำลายรังผึ้งหรือรังต่อด้วย ซึ่งถือเป็นงานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยจึงให้โดรนทำงานแทนมนุษย์)

ฟาร์มเลี้ยงไก่
ฟาร์มเลี้ยงไก่

8. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

แม้ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าวัตถุดิบ และอาหารจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยภาวะความไม่แน่นอนทั่วโลกอันเกิดมาจากการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ญี่ปุ่นมองว่าความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ต้องลดการพึ่งพาต่างประเทศ และเพิ่มการผลิตอาหาร และวัตถุดิบทางการเกษตรให้คนในชาติมากขึ้น

โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI, Robot ก็เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจการเกษตร ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรมากขึ้น

9. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชีพฟรีแลนซ์

ปัจจุบันค่านิยมในการทำงานในญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจำนวนมากเริ่มอนุญาตให้พนักงานทำงานเสริมได้ (โดยไม่กระทบต่อเวลาของงานประจำ) ทำให้สินค้า และบริการที่ช่วยสนับสนุนอาชีพฟรีแลนซ์เติบโตขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Matching ฟรีแลนซ์กับคนอยากจ้างฟรีแลนซ์ในญี่ปุ่นก็มีอัตราเติบโตสูงขึ้นในปัจจุบัน