เกื้อกูลLEs Exposition 2023 โชว์ความสำเร็จ SMEs ชุมชน 147 แห่งทั่วประเทศ

เกื้อกูลLEs Exposition 2023 โชว์ความสำเร็จ SMEs ชุมชน 147 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต

ในโลกของความหลากหลาย เหล่าธุรกิจรายย่อมเป็นส่วนสำคัญในการการขับเคลื่อนประเทศไทย เช่นเดียวกับ เกื้อกูลLocal Enterprises (เกื้อกูลLEs) ที่เกิดขึ้นมาเพื่อผลักดัน ผู้ประกอบการจากวิสาหกิจชุมชน

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เกื้อกูลLocal Enterprises Exposition 2023 หรือ เกื้อกูลLEs Exposition 2023 ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล กลไกสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2566 ณ ลานร่ำรวย ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดาฯ เปิดงานเป็นวันแรก

ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน เป็นผู้จัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน เกื้อกูล และเติบโตไปด้วยกัน

ซึ่ง ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เปิดเผยว่า แผนงานวิจัย พัฒนา ธุรกิจชุมชนเกื้อกูลLocal Enterprises มุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะ หรือศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Entrepreneurs) มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น (Local Resources) มาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ และมุ่งเน้นให้มีการจ้างและสร้างงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น (Local Employment) เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ผ่านการใช้ข้อมูล (Data-driven Super APP)  

แนวคิด (คน-ของ-ตลาด โมเดล) 3 กระบวนการ และ 2 เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ผลักดัน พัฒนา จนสามารถขยายผล ออกแบบและสร้างกระบวนการหนุนเสริมการพัฒนาธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs และสามารถสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเงิน ปัญหาธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย เกื้อกูลLEs ทำให้ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทั้งในด้านทรัพยากร แรงงาน และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย เกื้อกูลLocal Enterprises กล่าวเน้นย้ำว่า ความทรงพลังของหลักคิดและแก่นแนวของ เกื้อกูลLocal Enterprises คือ “คน-ของ-ตลาด โมเดล” เป็นกระบวนการคิดแบบพัฒนาธุรกิจ (คน) Business Development มิใช่ Product Development 

โดยเน้นการพัฒนาคน (ธุรกิจ) ด้วยการฝึกให้ผู้ประกอบการในพื้นที่วินิจฉัยสุขภาพของธุรกิจ และสุขภาพการเงินของตน และใช้ข้อมูลฝั่งอุปสงค์ (Demand) หรือ ตลาด มาออกแบบการบริหารจัดการธุรกิจของตน

เจาะลึกข้อมูลตลาด เพื่อเห็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจ แล้วค้นหาเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ของตน Knowledge Gap เพื่อช่วยให้สามารถสร้างของที่พัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจได้สำเร็จอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า แผนงานวิจัย เกื้อกูลLocal Enterprises สามารถยกระดับขีดความสำเร็จของธุรกิจชุมชน โดยได้สร้างและพัฒนากลไกการยกระดับธุรกิจชุมชนทั้งรูปแบบการทำงานโดยตรงกับธุรกิจชุมชน และผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในพื้นที่ (Local Knowledge Manager) รวมทั้งสิ้นกว่า 3,023 ธุรกิจชุมชน 

ก่อเกิดรายได้รวมของธุรกิจชุมชนที่ผ่านกระบวนการสร้างการเรียนรู้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 140% มีรายจ่ายที่เป็นการซื้อวัตถุดิบในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 700% มีการจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น 100% และมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในพื้นที่สูงขึ้นถึง 57% ต่อเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ไปสู่การทำงานจริงผ่าน 3 กระบวนการที่ออกแบบมาสำหรับเกื้อกูลLEs ได้แก่ 

1. การรอบรู้เพื่อตื่นรู้ 2. การเปลี่ยนสัมมาชีพสู่มืออาชีพ 3. การสร้างธรรมาชีพจากเครือข่ายธุรกิจร่วม และผ่าน 2 เครื่องมือสร้างการเรียนรู้ (Learning Platform) ในรูปแบบ Gamification ที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อกลุ่ม เกื้อกูลLEs อาทิ 1. การเงินเศรษฐี 2. การตลาดฟาดมโน 3. การสร้างมูลค่าจากห่วงโซ่คุณค่า 4. อยากผิดชีวิตบรรลัย (อุปสงค์ อุปทานการผลิต) เป็นต้น และเครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับความสามารถการประกอบการของธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งมหกรรม เกื้อกูลLocal Enterprises Exposition 2023 : “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล” กลไกสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนนี้ นับเป็นการเดินหน้าครั้งสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการชุมชน เกื้อกูลLEs ที่จะทำให้ท่านได้ตื่นตา ตื่นใจ และตระหนักรู้ไปกับ แนวคิด กระบวนการ และเครื่องมือ ที่จะเปลี่ยนความคิดและวิถีการทำงานของทุกคนผ่านผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs และเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการทั่วประเทศในโครงการจำนวน 147 แห่ง มาร่วมออกบูธขายผลิตภัณฑ์ชุมชน 5 ประเภท ได้แก่

กลุ่มท่องเที่ยว

กลุ่มสินค้าอุปโภค สมุนไพร

กลุ่มวัตถุดิบและเกษตรพื้นฐาน

กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป

และกลุ่มสินค้างานฝีมือ งานคราฟต์