เครือข่าย เรียกระดมสมอง หวังยกระดับ หน่วยจัดบริการสำหรับผู้พิการไทย

เครือข่าย เรียกระดมสมอง หวังยกระดับ หน่วยจัดบริการสำหรับผู้พิการไทย

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดหน่วยบริการผู้ช่วยคนพิการ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ มูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดชลบุรี ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดปทุมธานี ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดนนทบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค มุมมอง ข้อคิดเห็น จากหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ และมุ่งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ

ดร.วรชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเนื่องจากเราเป็นเครือข่ายคนพิการอยู่แล้ว ซึ่งทำงานร่วมกันหลายอย่างตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ของเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้ ปัญหาของคนพิการ คือ การจะดำรงชีวิตอิสระ หรือการไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ถือเป็นประเด็นสำคัญมาก สำหรับคนพิการที่ยังมีข้อจำกัด

ระดมสมอง

กล่าวคือ ระบบสาธารณูปโภคบ้านเรา ไม่ได้ออกแบบมาให้คนพิการสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ ฉะนั้น คนพิการจึงต้องมีผู้ช่วยคนพิการขึ้นมา และการที่จะมีผู้ช่วยคนพิการที่ดีเพื่อช่วยเหลือให้คนพิการใช้ชีวิตอิสระได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยจัดบริการ เพื่อจัดบริการผู้ช่วยที่มีคุณภาพส่งไปให้กับคนพิการที่สามารถพาคนพิการออกไปใช้ชีวิตได้

ด้วยเครือข่ายของกลุ่มคนพิการเองมองเห็นศักยภาพของคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต จึงถือโอกาสเชิญชวนทางคณะฯ ในการพัฒนาหลักสูตรการจัดตั้งหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ เพื่อให้โอกาสคนพิการได้รับการช่วยเหลือจากผู้ช่วยคนพิการ และปลายทางคือ คนพิการจะมีชีวิตอิสระ มีคุณค่าในสังคมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับกระบวนการหลักสูตรนั้น ดร.วรชาติ กล่าวว่า ต้องสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีความคิดเห็นและเนื้อหาอย่างไร เวทีวันนี้เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะขอข้อมูลสำคัญของคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นหน่วยจัดบริการอยู่แล้ว เข้ามาร่วมสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการออกแบบหลักสูตร

ดังนั้น ในกระบวนการที่สนใจคือ หาข้อมูลของเขามาแล้วมาเทียบกับข้อมูลที่มีในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร ก่อนร่างหลักสูตรขึ้นมาและนำเสนอให้วิพากษ์อีกครั้ง โดยอาจทดลองใช้ในบางพื้นที่ดูก่อนว่าเป็นอย่างไร และถ้าได้ผลดี จึงนำหลักสูตรนี้ไปเสนอกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับรอง เพื่อทำให้มีหลักสูตรหน่วยจัดบริการที่มีคุณภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการอย่างแท้จริง