กระดูกไก่ดำ สมุนไพรคุณภาพ ทางเลือกลดปวด สร้างรายได้ชุมชน

กระดูกไก่ดำ สมุนไพรคุณภาพ ทางเลือกลดปวด สร้างรายได้ชุมชน

ตามที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพร ซึ่งเป็นการเสริมผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และทำให้ประชาชนได้รู้จัก เชื่อมั่น ชอบ ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้นนั้น

โดยในปีนี้ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ผ่านการคัดเลือกรับรางวัลประเภทที่ 1 Premium Herbal Products ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ คือ “มัสคูลสเปรย์”

ได้รางวัล

สำหรับ มัลคูลสเปรย์ นั้น เปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 14 เมื่อปี 2560 และได้รับรางวัล Prime Minister Herbal Award (PMHA) ตั้งแต่ปีแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ ทำจากสารสกัดต้นกระดูกไก่ดำอินทรีย์ ที่ปลูกจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา เลย และมหาสารคาม มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน

มัสคูลสเปรย์ ย่อมาจาก muscle ที่แปลว่า กล้ามเนื้อ และ cool ที่แปลว่า เย็น เพราะหลังจากฉีดสเปรย์จะให้ความรู้สึกเย็นสบายคลายความปวดลงทันที ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำสมุนไพรกระดูกไก่ดำ มาทำเป็นสเปรย์เป็นครั้งแรกของโลก

ความสำเร็จในการพัฒนามัสคูลสเปรย์ เริ่มตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวและการสกัด จนถึงกระบวนการวิจัยทางคลินิกที่พบว่ามีประสิทธิผลในการบรรเทาปวด ลดการอักเสบ ไม่แตกต่างจากยาไดโคลฟิแนคชนิดสเปรย์ ทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้เลือกใช้ยานี้ทดแทนสเปรย์แก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

มัสคูลสเปรย์

นอกจากนั้น มัสคูลสเปรย์ ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากภาคประชาชน เนื่องจากอาการปวดเป็นอาการที่พบบ่อย และการรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว มัสคูลย์สเปรย์ จึงเป็นทางเลือกแก้ปวดที่ปลอดภัย ประกอบกับหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำหน่ายทั่วไปได้

เมื่อใช้ได้ผลก็เกิดการบอกต่อปากต่อปาก ซึ่งรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์มัสคูลสเปรย์นี้ เป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางด้านสุขภาพ ในการพัฒนายาที่ทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระจายเงินสู่ชุมชนผู้ปลูกสมุนไพรในประเทศไทยได้