“เด็กเก่ง”เจ้าบทเจ้ากลอน แชมป์”สารานุกรมไทย”

ยินดีกับเด็กเก่งจากโรงเรียนสายมิตรศึกษา อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ชนะเลิศ “การแต่งบทกลอนในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย” โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพฯ

ด.ช.พงศ์อนันต์ เอมเปีย ชั้น ม.2 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเหรียญทองเชิดชูเกียรติคนเก่งสารานุกรมระดับประเทศ นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้ว ด.ญ.อภิสรา พิมพ์อรัญ ม.3 ยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครองอีกหนึ่งรางวัล ขณะที่ระดับ ม.ปลาย น.ส.กัญญานัฐ ไขกล ม.4 ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วย

อาร์ม-ด.ช.พงศ์อนันต์ เอมเปีย เจ้าของรางวัลชนะเลิศระดับ ม.ต้น บอกว่า การแข่งขันระดับ ม.ต้น กำหนดให้แต่งกาพย์ยานี 11 โดยกำหนดคำมา 10 คำ ให้เราแต่งกลอนที่เกี่ยวข้องกับสารานุกรม โดยกำหนดเวลาให้แต่ง 2 ชั่วโมง

โดยกาพย์ยานี 11 ที่อาร์มใช้เวลาแต่งประมาณชั่วโมงกว่าๆ และได้รับรางวัลชนะเลิศ อาร์มได้ยกตัวอย่างบทกลอนให้ฟังว่า

“โบราณจดจารค่า ทรัพย์ปัญญานั้นสูงสุด

ยกค่ามวลมนุษย์ ได้พิพัฒน์เหนือสัตว์ใด

หนังสือคือแรงหนุน เป็นต้นทุนสู่ธงชัย

พี่น้องทุกเพศวัย ปูพื้นฐานอ่านทุกวัน

ไลอ้อนร่วมคิดสร้าง สืบแนวทางองค์ราชัน

ภูมิคิดประดิษฐ์สรรค์ เรื่องร้อยพันได้ยินยล”

“ความหมายโดยรวม แปลว่า สารานุกรมรวบรวมข้อมูลนานมาแล้วหลายๆ เรื่องให้เราได้อ่านกัน เป็นหนังสือที่ทำให้เราสำเร็จไปทุกๆ ด้าน” อาร์มอธิบายก่อนบอกว่า เมื่อได้รับรางวัลนี้รู้สึกภูมิใจมาก และอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องแต่งกลอนทุกคน แต่อยากให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

ขณะที่ โย-น.ส.กัญญานัฐ ไขกล ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ ม.ปลาย กล่าวว่า การแข่งขันระดับ ม.ปลาย เป็นการแจ่งแต่งกลอน 8 จำนวน 8 บท ภายในเวลา 2 ชั่วโมง และมีคำกำหนดมาให้ 10 คำ ให้เรานำคำที่กำหนดใส่เข้าไปในกลอน โดยขีดเส้นใต้และผูกเรื่องเข้าหากัน โดยกำหนดเนื้อหาการแต่งกลอนให้เกี่ยวกับการเชิญชวนให้คนอื่นร่วมกันอ่านสารานุกรม เพราะเป็นหนังสือที่มีความรู้ สำหรับโยแล้ว เคยอ่านหนังสือสารานุกรมฉบับเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเยอะแยะมากมาย หลายเรื่องไม่เคยรู้ในห้องเรียน ก็ได้รู้จากหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก

“กลอนที่แต่ง โดยภาพรวมแต่งเกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 และเชิญชวนให้ทุกคนมาอ่านสารานุกรม” โยเล่า ก่อนบอกด้วยน้ำเสียงดีใจว่า “ภูมิใจมากที่ได้รับรางวัล ไม่คิดว่าตัวเองจะได้”

สำหรับโยแล้ว ชอบแต่งกลอนเป็นชีวิตจิตใจเเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อีกทั้งยังอยู่ในวิชาการกลุ่มสาระภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก

“โยชอบการแต่งกลอน 8 และอินทรวิเชียรฉันท์ การแต่งกลอนมีเสน่ห์คือสร้างความเพลิดเพลิน เหมือนเราได้ถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมา แบบที่ไม่ใช่ร้อยแก้ว”

สุดท้าย โยฝากบอกถึงเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ว่า อยากให้เพื่อนๆ ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ภาษาไทยมีเสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

กัญญานัฐ ไขกล
พงศ์อนันต์ เอมเปีย

ที่มา มติชนออนไลน์