เปิดเคล็ด(ไม่)ลับ SMEs ที่อยากผ่านพิจารณารับสินเชื่อ

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแบบนี้ SMEs คงเริ่มการวางแผนธุรกิจกันแล้ว บางธุรกิจอยากจะปรับปรุง ขยับขยาย หรือเตรียมความพร้อมในการตอบรับโอกาสใหม่ๆ

แต่อีกหนึ่งปัญหาที่นักธุรกิจต้องพบเจอกันบ่อยๆ ก็คือการเข้าถึงแหล่งที่มาของเงินทุน คือไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี หรือเลือกแหล่งเงินทุนแบบไหนดี? ทั้งๆ ที่จังหวะและโอกาสมาถึงแบบที่ต้องรีบคว้าไว้แล้ว

ดังนั้น นักธุรกิจอย่าปล่อยให้โอกาสหลุดมือ ยิ่งถ้ามีไอเดียบรรเจิดกับแผนธุรกิจสุดปัง ก็ยิ่งไม่ควรต้องมาสะดุด เพราะเพียงติดข้อจำกัดในการไม่มีทุนในการพัฒนา และคงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากต้องพับโครงการไปโดยยังไม่ทันได้เริ่มทำตามแผนธุรกิจที่วางไว้

ฟินบิส โดย ทีทีบี (finbiz by ttb) จึงขอแนะนำหลักเกณฑ์ในการเตรียมตัวเพื่อให้ธุรกิจได้เงินทุนมาต่อยอดในการพัฒนาต่างๆ ซึ่งแหล่งเงินทุนสำคัญและมั่นใจได้ก็คือ สินเชื่อธุรกิจจากธนาคาร ซึ่งถ้าหากธุรกิจเตรียมตัวมาดี การขอสินเชื่อมาต่อยอดธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ธนาคารพิจารณาสินเชื่อธุรกิจ จากอะไรบ้าง?

ผู้ประกอบการมักมีคำถามว่า สำหรับสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารพิจารณาจากอะไรในการปล่อยสินเชื่อ และจะให้สินเชื่อได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโดยหลักๆ ธนาคารจะพิจารณาจาก 6 สิ่งนี้

1) ผู้กู้ (ซึ่งรวมถึงบริษัท และผู้บริหาร)
2) ผลประกอบการของธุรกิจ
3) ความสามารถในการชำระหนี้
4) หลักประกัน
5) เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
6) ประวัติเครดิตทางการเงิน

เตรียมตัวธุรกิจ ให้เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับพิจารณา ไม่ยากอย่างที่คิด…

เมื่อผู้ประกอบการศึกษาแล้วว่าธนาคารพิจารณาจากองค์ประกอบใดบ้าง ก็สามารถเตรียมธุรกิจให้ตรงตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปได้อย่างราบรื่น เคล็ด(ไม่)ลับเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติได้

1) จดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้อง และปฏิบัติตามกฎหมาย การขอสินเชื่อธุรกิจ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

2) เดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ การเดินบัญชีต้องเป็นบัญชีที่มีการใช้งานอย่างปกติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ มีการซื้อขาย มีรายรับ มีค่าใช้จ่าย ต้องไม่พบความไม่ปกติ เช่น การถอนเงินทีละก้อนใหญ่หมดในคราวเดียว หรือบัญชีไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว ดูแล้วไม่เหมือนการทำธุรกิจ เป็นต้น

3) สร้างเครดิตดี ประวัติการจ่ายหนี้ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ และรักษาให้ดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการค้างจ่าย หรือสัญญาณที่ทำให้ไม่น่าไว้ใจว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นต้น

4) วางแผนสำหรับธุรกิจ จัดทำแผนธุรกิจที่ต้องการใช้สินเชื่อ ว่าจะนำไปพัฒนา หรือทำกิจกรรมใดในธุรกิจ โดยจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน รวมไปถึงเตรียมเอกสารประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน และหากต้องใช้สินทรัพย์หลักประกันควรจัดเตรียมไว้ให้พร้อม

5) ปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคาร สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ซึ่งยังมีข้อมูลอีกมากมายของบริษัทที่อาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาสินเชื่อ หากผู้ประกอบการมีการสอบถามและสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ธนาคารอย่างเปิดเผย จะสามารถช่วยให้การขอสินเชื่อเป็นไปได้โดยราบรื่นขึ้น

จากเงื่อนไขและหลักการข้างต้น ผู้ประกอบการจะพบว่า ในการวางแผนสำหรับธุรกิจ อาจมีบางครั้งที่จะต้องใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน และเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการพิจารณาวงเงินให้กับสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งบ่อยครั้ง SMEs มักประสบปัญหาเรื่องสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันติดภาระจำนองกับธนาคารเดิม จึงทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์นั้นไปขอสินเชื่อใหม่ หรือขอสินเชื่อธุรกิจเพิ่มเติมได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว สำหรับสินเชื่อธุรกิจ

ก็สามารถเข้าโปรแกรม รีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ ได้เช่นกัน ซึ่งการรีไฟแนนซ์เป็นอีกหนทางหนึ่งให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับสินเชื่อธุรกิจเพื่อไปลงทุนดำเนินการต่างๆ บนสินทรัพย์หลักประกันเดิมได้

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไข ข้อพิจารณาอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารสามารถให้คำแนะนำปรึกษา และร่วมหาทางออกในการขอสินเชื่อธุรกิจ รวมไปถึงแนะนำเครื่องมือทางการเงินได้

ดังนั้น หากผู้ประกอบการมอบความไว้วางใจให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร ในการแนะนำข้อมูลต่างๆ เพื่อให้การเตรียมแผนธุรกิจ และการเตรียมเอกสารครบถ้วนตามที่ธนาคารกำหนด การพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของธนาคารก็สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น