ผู้สูงวัย ทรัพยากรมีค่า ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนให้ทำงานได้ต่อ

ผู้สูงวัย ทรัพยากรมีค่า ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนให้ทำงานได้ต่อ

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Head of Research Unit in Finance and Sustainability in Disruption Era สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในผู้ร่วมนำเสนอบนเวที TED 2023 : Possibility “Leaping Boldly into New Global Realities” ที่ Vancouver ประเทศแคนาดา

ซึ่งเวที Ted Talk นี้มี Speakers ที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาร่วมงาน อาทิ Greg Brockman จาก Open AI Co-founder และ Shou Chew CEO ของ TikTok เป็นต้น

รศ.ดร.ปิยะชาติ ได้นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยก้าวข้ามอุปสรรคทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมในการจ้างงาน โดยคนส่วนใหญ่มองว่า จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัญหาของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ต่อไปจะมีแต่คนไปโรงพยาบาล ไม่มีคนทำงาน มีแต่ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ มองแต่เรื่องลบๆ

แต่สำหรับ รศ.ดร.ปิยะชาติ เขาได้สื่อสารออกไปในมุมตรงกันข้าม พร้อมกับนำเสนอแนวคิด How to unlock ทำอย่างไรที่เราจะคิดให้เป็นเรื่องบวกได้ เนื่องจากการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต หากว่าวันหนึ่งเราไม่มีงานทำ หรือเราทำงานไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การทำงานเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้แบบปกติ เพราะการมีรายได้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวเป็นส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติของคนบนโลกที่มีจำนวนมหาศาล

เมื่อพูดถึงการทำงานของผู้สูงวัย หากถึงวันหนึ่งที่ผู้สูงวัยเหล่านั้น ไม่มีงานทำ หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เพราะเป็นความเชื่อของคนทั่วโลกที่ว่าผู้สูงวัยไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำงาน หรือค่าจ้างในการจ้างงานคนสูงวัยสูงกว่าคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นการปิดโอกาสผู้สูงวัยในการทำงาน

โดยในปี ค.ศ. 2050 บนโลกนี้จะมีผู้สูงวัย 2 พันล้านคน และจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา

เพราะฉะนั้น ในประเทศเหล่านี้จะมีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ไม่มีเงินใช้จ่าย นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศเหล่านี้ไม่มีคุณภาพที่ดีพอ เพราะมีเงินออมไม่พอ และโครงสร้างทางสังคมทั่วโลกจะกดดันและบีบคั้นให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่มีโอกาสทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตของผู้สูงวัย

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิยะชาติ ยังได้พูดถึงการที่สังคมหรือบางองค์กร ไม่ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย โดยคิดว่ามีศักยภาพและประสิทธิภาพน้อย หรือบางครั้งก็มีการ Early Retire เพราะคิดว่าค่าจ้างในการทำงานแพง โดยเขามองว่า นับเป็นเรื่องน่าเสียดายประสบการณ์ องค์ความรู้ในการทำงานที่สะสมมายาวนาน โดยคิดว่าบางลักษณะงานต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้สูงวัยเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปได้ด้วยดี

รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Head of Research Unit in Finance and Sustainability in Disruption Era สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับการนำเสนอแนวความคิดของเขาบนเวทีดังกล่าวครั้งนี้ เพื่อช่วยจุดประกายให้มองกลับมาใหม่ว่า ผู้สูงวัย มีคุณค่ากับสังคมมากกว่าที่เคยมองกันมาก่อนหน้านี้ โดยควรนำ Senior Employment Technology มาทำให้ผู้สูงวัย Transform กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ให้ติดอุปสรรค

ยกตัวอย่างเช่น คนเมื่อ 500-600 ปีก่อนไม่มีแว่นตา ซึ่งคิดว่าน่าจะลำบากในการทำงานหรือการใช้ชีวิต เมื่อเรามีแว่นสายตาปัญหาก็จบ เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยการทำงานให้กับผู้สูงวัย อุปสรรคต่างๆ ก็จะหายไป ก็จะไม่มีใครมีความคิดว่าผู้สูงวัยทำงานไม่ได้

ที่ผ่านมา เรามีเทคโนโลยีช่วยผู้สูงวัยในวัยเกษียณหรือผู้สูงวัยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยสามารถกลับไปทำงานได้ปกติ ที่ผ่านมา ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีเทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงวัยกลับเข้ามาทำงานได้อยู่บ้าง แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนายังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้เลย

ดังนั้น เทคโนโลยีที่ว่านี้ ต้องได้รับความสนใจ โดยหาวิธีหรือสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนในประเทศนั้นๆ ที่ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย

รศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับ อุปสรรคของผู้สูงวัยในการทำงานหลักๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง อุปสรรคทางด้านร่างกาย เช่น ร่างกายไม่เอื้อต่อการทำงาน อย่างการยกของหนัก ซึ่งเรื่องนี้เทคโนโลยีช่วยได้ หรืออาชีพบางอย่างที่ต้องยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ ก็อาจจะต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสะดวกในการทำงานได้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีผู้สูงวัยที่เป็นอาสาสมัครในงานเพื่อสังคมโดยนำประสบการณ์ ความรู้ไปแบ่งปัน ซึ่งถือว่ามีคุณค่าต่อสังคม

สอง อุปสรรคทางด้านการเดินทางไปทำงานของผู้สูงวัย ซึ่งการเดินทางอาจใช้เวลานานหรือการเดินนานๆ หรือการที่รถติดนานๆ ล้วนเป็นอุปสรรคของผู้สูงวัย ทำไมเราไม่ลองคิดว่ามีงานจำนวนมหาศาลที่สามารถทำงานได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง โดยเห็นได้จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเราสามารถทำงานจากที่บ้านได้โดยไม่มีสิ่งใดติดขัด

ทำไมเราไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับการจ้างงานของผู้สูงวัยได้ มีงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ในเหตุการณ์โควิดได้พิสูจน์สิ่งเหล่านี้มาแล้ว และการปรับวิธีคิดการทำงาน สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยกลับเข้ามาทำงานหลังจากเกษียณได้จำนวนไม่น้อย ซึ่งระบบ Remote Working จะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้

และ สาม อุปสรรคทางสมอง ทางความจำ ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้สูงวัยไม่สามารถจำเรื่องใหม่ๆ ได้เยอะเท่าเด็กรุ่นใหม่ การปรับตัวตามเทคโนโลยีอาจไม่ได้เร็ว หรือความคล่องตัวในบางอย่างอาจลดลง ทำไมเราไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจำหรือช่วยไกด์วิธีการใช้งาน หรือบางงานใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานบางอย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อให้ผู้สูงวัย ใช้ทักษะประสบการณ์ทางด้านอื่นๆ ในการทำงานได้

“สิ่งที่เราขาด คือ ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้จุดประกายให้หลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเกิดการพัฒนาในส่วนต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อม เช่นเรื่อง ซอฟต์แวร์ เอนจิเนียริ่ง วิศวกร ร่วมมือกับนักลงทุน และเชื่อว่าการพัฒนาในส่วนนี้จะมีตลาดรองรับ และตลาดจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ”

“ผู้สูงวัยที่ต้องการทำงาน อาจจะเป็นเรื่องของการเงิน หรือบางส่วนอาจเป็นเรื่องของคุณค่าในตัวเอง ในอนาคตผู้สูงวัยทั่วโลกจะมีจำนวนมหาศาล และยังมีส่วนขับเคลื่อนการทำงานเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยเป็นทรัพยากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีค่ากับประเทศ เพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจและสังคมและไม่เป็นภาระกับประเทศอย่างที่คิดกัน และยังช่วยลดภาระทางการเงินของประเทศได้อย่างมาก” รศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าว